กทท.เตรียมพลิกโฉมบริการ เน้นทันสมัย-นวัตกรรม-ไอที

17 ธ.ค. 2559 | 02:33 น.
กทท.ปรับกลยุทธ์ธุรกิจขานรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ชูแนวคิดเป็นท่าเรือแห่งชาติ ทันสมัย ใช้นวัตกรรม เตรียมเสนอรองนายกฯสมคิดไฟเขียวปลายปีนี้

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาท่าเรือที่กทท.รับผิดชอบตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(East Economic Corridor : EEC) โดยในส่วนความรับผิดชอบของกทท.นั้นจะเร่งพัฒนาท่าเรือของชาติ โดยไม่ได้คิดดำเนินการอยู่ภายในกรอบว่ามีข้อจำกัดแค่ไหนก็จะต้องดำเนินการภายในกรอบนั้น แต่จะต้องประมวลสภาพแวดล้อมต่างๆประกอบไปด้วยว่าจะสามารถบูรณาการโครงการของหน่วยงานต่างๆได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

โดยนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยากเห็นว่าภายในเดือนธันวาคมปีนี้กทท.ควรจะพัฒนาไปในทิศทางและรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะผลกระทบต่อโครงการแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะต้องทันสมัย ผลิตสินค้าที่มีพัฒนาการของแต่ละประเภทสินค้า โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากไอทีและนวัตกรรม ตลอดจนด้านบริการเพื่อให้สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้านั้นๆได้อย่างไร

“หากจำเป็นที่จะต้องดำเนินการนอกเหนือจากกรอบที่กทท.กำหนดไว้ให้นำเสนอพิจารณาเพื่อจะสนับสนุนนโยบายได้อย่างสอดคล้องหรือช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงตามเป้าหมาย สำหรับรูปแบบการพัฒนาจะนำข้อเด่นของท่าเรือของประเทศต่างๆมาผสมผสานกัน โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 20 ธันวาคมนี้เพื่อจะนำเสนอรองนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังจากนั้นจึงจะเริ่มศึกษารายละเอียดเชิงลึกต่อเนื่องกันไปทันที”

“รูปแบบที่โดดเด่นของกลยุทธ์การพัฒนาท่าเรือรูปแบบใหม่จะเน้นการพัฒนาท่าเรือให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง ไม่ได้มองเฉพาะผลประกอบการหน้าท่าสำหรับการขนส่งสินค้าเท่านั้น ควรมองผลกระทบด้านอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ควรนำองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีพัฒนาไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องเป็นท่าเรือที่เป็นบ่อเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป”

ทั้งนี้ผอ.กทท.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ A ที่ท่าเรือแหลมฉบังว่าได้แยกส่วนการจัดหาเครื่องมือออกมาดำเนินการ ล่าสุดได้เปิดประมูลรอบใหม่เนื่องจากไม่ได้สเปคตามที่ต้องการ ดังนั้นส่วนงานการจัดหาเครื่องมือยกขนอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่กระทบแผนในภาพรวมโดยจะก่อสร้างเสร็จช่วง 1-2 เดือนแล้วอาจจะเช่าเครื่องมือไปดำเนินการทดแทนพลางก่อนได้

“เครนที่จะนำไปใช้งานรูปแบบโมบายเครน การเช่าหาง่ายจึงไม่กระทบแผนที่กำหนดไว้ โดยเรือ 1 ลำมีจำนวนประมาณ 60 ตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ระยะเวลายกขนราว 3-4 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ แต่หากได้เครนตามสเปกที่กำหนดก็จะสามารถเร่งรัดงานได้เร็วขึ้น หรือ 1 ชั่วโมงอาจจะได้มากถึง 20 ตู้ โดยมูลค่ารวมทั้งส่วนงานก่อสร้างและการจัดหาเครื่องมือจำนวนทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,218 วันที่ 15-17 ธันวาคม 2559