กรมศุลฯชี้รถเมล์เอ็นจีวีกลุ่มแรกสำแดงแหล่งกำเนิดเท็จ ด้าน“ซุปเปอร์ซาร่า”ยื่นหนังสือวางเงินประกันค่าภาษี

13 ธ.ค. 2559 | 08:26 น.
วันนี้ (13 ธันวาคม 2559) เวลา 14.30น. ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร กรุงเทพมหานคร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวกรณีการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่กรมศุลกากรได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการนำเข้ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น ต่อมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากร ไปประสานงานตรวจสอบข้อมูลที่ประเทศมาเลเซีย และได้ผลสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด นำเข้ารถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จำนวน 489 คัน ซึ่งได้ทยอยส่งออกจากประเทศมาเลเซีย มายังประเทศไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวละ 1 คัน, 99 คัน, 145 คัน, 146 คัน และ 98 คัน (อยู่ระหว่างการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย) ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 489 คัน สามารถแบ่งการดำเนินการของบริษัทฯ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1   (เที่ยวที่ 1 – 2 รวมจำนวน 100 คัน) เป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3 – 5  จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยได้ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD จะส่งรถโดยสารปรับอากาศดังกล่าวมายังประเทศไทย ได้มีการนำเข้ารถโดยสารปรับอากาศชนิดเดียวกันจากประเทศจีน โดย NORINCO NEW ENERGY CO., LTD. ระบุชื่อผู้ซื้อที่มาเลเซีย คือ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD และพบสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำนวน ราคา และน้ำหนักตรงกันกับที่บริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ส่งมายังประเทศไทย  มีรายการหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์ ตรงกัน รวมทั้งแสดงราคาต่อหน่วยและน้ำหนักต่อหน่วย เท่ากัน

กรณีกลุ่มที่ 1 จึงเป็นการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 99 , 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ส่วนกรณีกลุ่มที่ 2 ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่ได้ยื่นเอกสารการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด รับทราบ และบริษัทฯยอมรับว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย จึงแถลงข่าวในครั้งแรกตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ

อนึ่ง หากบริษัทมีความประสงค์ที่จะชำระค่าภาษีหรือวางเงินประกัน และมีเอกสารพร้อม สามารถดำเนินการที่กรมศุลกากร หรือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อทำการตรวจปล่อยได้ภายใน 1 – 2 วัน เท่านั้น

ด้านบริษัท ซุปเปอร์ซ่ารา จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถบัสเอ็นจีวี ของขสมก. ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรในวันนี้(13 ธ.ค.59) ว่ามีความประสงค์และยินดีวางเงินประกันค่าภาษีให้กับกรมศุลกากร ก่อนที่จะนำรถออกจากท่าเรือแหลมฉบัง จดหมาย4 (1)