ลูกหนี้แห่ใช้‘รีฟินน์’พุ่ง รีไฟแนนซ์บ้านเดือด แบงก์หั่นดอกเบี้ย-ฟรีค่าต๋งสู้

12 ธ.ค. 2559 | 10:00 น.
ลูกหนี้แห่ใช้ “รีฟินน์” ทะลักดันยอดขอรีไฟแนนซ์ทะลุเป้า คาดปีหน้าอนุมัติ เพิ่ม 5,000 ล้านบาท จับมือแบงก์ใหญ่งัดโปรโมชัน “กู้ง่าย ดอกถูก อนุมัติไว”ต้อนลูกหนี้ แบงก์ตื่นรับมือ อัดแคมเปญดอกเบี้ยตํ่า-ฟรีจดจำนองสู้

แบงก์พาณิชย์ประเมินแนวโน้มตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้และปีหน้าแข่งขันรุนแรงหลังลูกหนี้แบงก์จำนวนมากใช้บริการรีไฟแนนซ์ผ่านบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งใหม่ คือ บริษัทรีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอมจำกัด (รีฟินน์) ผู้ให้บริการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าธรรมเนียม

รีฟินน์ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2559 ยอดยื่นขอรีไฟแนนซ์อยู่ที่ประมาณ1,000 ล้านบาท แต่หลังเปิดตัวเพียง 3เดือน ยอดยื่นขอรีไฟแนนซ์ทะลุเป้าไปถึง 3,500 ล้านบาท สะเทือนถึงแบงก์พาณิชย์หลายแห่ง ที่จำเป็นต้องปรับตัวและหากลยุทธ์ที่จะรักษาลูกค้าของตนเองและดึงลูกค้ารายใหม่

บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนลดอท คอมฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มฟินเทค ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานบริษัท เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559เพื่อให้บริการ รีไฟแนนซ์ บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ www.refinn.com โดยรวบรวมโปรโมชั่นจากธนาคารพันธมิตร 15 แห่ง แล้วนำข้อมูลมาคำนวณ เปรียบเทียบเพื่อหาโปรโมชั่นที่ดีที่สุดนำเสนอต่อผู้ขอรับบริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“เราไม่ใช่คู่แข่งแบงก์ เพราะแบงก์ต่างๆนำเสนอโปรโมชันเข้ามา และเราเป็นผู้รวบรวมข้อเสนอที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่แบงก์ต้องงัดแคมเปญเพื่อมารักษาลูกค้าของตัวเอง”นายกรณ์ กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”

 หวังปีหน้ารีไฟแนนซ์ 5 พันล้าน

นางสาวนิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนลดอท คอมฯ กล่าวว่า ความตื่นตัวของลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่ยื่นขอให้บริการผ่านรีฟินน์เกิดคาด ทำให้บริษัทได้รับความไว้ใจจากธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่ง อนุมัติวงเงินพิเศษจำนวน 4 พันล้านบาท ให้คนไทยรีไฟแนนซ์ส่งท้ายปี 2559 ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ โดยจะกู้ง่ายกว่า ดอกเบี้ยถูกกว่า และอนุมัติได้ไวกว่าปกติที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน

สำหรับแผนงานปี 2560 บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขอรีไฟแนนซ์ผ่านบริษัทประมาณ 5,000-1 หมื่นล้านบาท และคาดว่ายอดอนุมัติไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของยอดรีไฟแนนซ์ทั้งระบบ รวมทั้งจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อบ้านด้วย

“ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท และแต่ละปีก็จะมียอดรีไฟแนนซ์ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เราก็แค่ลูกค้าเข้ามาทำผ่านเราแค่ 10% ก็พอ”

T01321701  แบงก์งัดแคมเปญมัดลูกค้า

นายบุนชาน กุลวทัญญู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีความเข้าใจว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยประกอบกับมีบริษัทรีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนลดอท คอม ให้บริการรีไฟแนนซ์บ้านผ่านออนไลน์ฟรี ส่งผลให้ธนาคารในระบบจำเป็นต้องปรับตัวหรือหากลยุทธ์ที่จะรักษาลูกค้าของตนเอง

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดรีไฟแนนซ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆได้ออกแคมเปญอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจลูกค้า เช่น ดอกเบี้ย 0.25% ในช่วงปีแรก หรือคงที่ 3 ปี อยู่ที่ 3.5% อย่างไรก็ตามหากคำนวณอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย 3 ปีแรกของแต่ละธนาคารจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-6.0%และมีบางธนาคารนำเสนอแคมเปญเพิ่มเติม เช่น ฟรีค่าจดจำนอง ฟรีค่าประเมินหลักประกัน เป็นต้น

 กรุงไทยยอดย้ายค่ายพุ่ง

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อยธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ค่อนข้างรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ค่อนข้างน้อย และภายหลังจากธนาคารพาณิชย์ปรับเกณฑ์เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ผู้กู้ที่เข้ามาใหม่มีน้อยลง ทำให้ตลาดรีไฟแนนซ์กลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง

ประกอบกับลูกค้ามีความรู้มากขึ้นในเรื่องรีไฟแนนซ์ จึงเห็นหลายธนาคารพยายามลงมาเล่นตลาดนี้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะแข่งขันอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปกติในปีแรกประมาณ 0.50-2% รวมถึงค่าธรรมเนียมและเพิ่มวงเงินให้เพื่อจูงใจลูกค้าในการรีไฟแนนซ์

นายชัยณรงค์ กล่าวว่าในส่วนของกรุงไทยยอมรับว่าลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปสถาบันการเงินอื่นในอัตราที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับในอดีตโดยรีไฟแนนซ์ออกไปประมาณ 7-8% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่ผ่อนชำระครบ 3-5 ปี

ปัจจุบันธนาคารกำลังหาวิธีการป้องกันและเพิ่มเครื่องมือให้สาขา เพื่อป้องกันยอดรีไฟแนนซ์ไหลออก เช่น เพิ่มอำนาจให้สาขาในการลดอัตราดอกเบี้ย พิจารณาวงเงินเพิ่มเติม คาดว่าหลังจากปรับปรุงครั้งนี้จะช่วยป้องกันการรีไฟแนนซ์ออกของลูกค้าได้ประมาณ 1 ใน 3 ของวงเงินที่รีไฟแนนซ์ออกไป

“ตอนนี้สินเชื่อใหม่ทุกธนาคารหายาก ทำให้ตลาดรีไฟแนซ์มีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งกรุงไทยก็กำลังดูอยู่ว่าจะต้องทำอย่างไรในภาวะการแข่งขันนี้ เพราะถ้าป้องกันช้าอาจทำให้ยอดสินเชื่อตกลงได้”

 กรุงศรีฯเน้นดอกเบี้ยถูกกว่า

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมียอดสินเชื่อรีไฟแนนซ์เข้ามาจากสถาบันการเงินอื่นเฉลี่ยประมาณ 700-1,000 ล้านบาทต่อเดือนใกล้เคียงปีก่อน ธนาคารไม่เน้นแข่งขันตลาดรีไฟแนนซ์ หรือออกผลิตภัณฑ์มาดึงลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จะเป็นเพียงบริการเสริมให้กับลูกค้าที่ต้องการเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการแข่งขันตลาดรีไฟแนนซ์จะเห็นเป็นบางช่วงจังหวะ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายธนาคารนั้นๆ หากต้องการสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายก็จะออกโปรดักต์มาดึงยอดสินเชื่อ โดยจะเน้นแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่จะถูกกว่าในช่วง 3 ปีแรก ประกอบกับลูกค้าได้ประโยชน์จากรีไฟแนนซ์ทั้งในส่วนของค่างวดผ่อนชำระลดลง หรือการขอวงเงินเพิ่มเติม

 ซีไอเอ็มบีไทยงัดลดดอกเบี้ยจูงใจ

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นหลายธนาคารเข้ามาเล่นในตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าเข้าใจและมีความรู้มากขึ้นต่างจากอดีตที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ประกอบกับธนาคารในระบบเริ่มออกโปรแกรมรีไฟแนนซ์ออกมาให้เลือกค่อนข้างมาก

ในส่วนของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีลูกค้าเข้ามารีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 5% ของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยในปี 2558 มียอดรีไฟแนนซ์สินเชื่อใหม่อยู่ที่ 500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 700 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะจบอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

สำหรับโปรแกรมรีไฟแนนซ์ที่ตลาดกลับมาคึกคักจะมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญ คือ ช่วยลดระยะเวลาการผ่อนชำระ เช่น ผ่อนชำระ 12-15 ปี อัตราการผ่อนชำระเท่าเดิม แต่อัตราดอกเบี้ยลดลงไปช่วยตัดเงินต้น ทำให้ผ่อนหมดไวขึ้น โดยเฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปีแรก จะอยู่ที่ 3.49% จากเดิมอยู่ธนาคารเดิมเฉลี่ยดอกเบี้ยอยู่ที่ 5-6% และปีที่ 5-7 ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5.5-6% และการรีไฟแนนซ์เพื่อกู้เงินเพิ่มไปใช้ฉุกเฉิน

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดรีไฟแนนซ์และจะเริ่มเข้าไปเล่นในตลาดนี้จริงจังในปี 2560 เพราะเห็นว่าลูกค้าให้ความสนใจรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ประกอบกับธนาคารในระบบมีโปรแกรมออกมาต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปอยู่ธนาคารอื่นจำนวนหนึ่งเฉลี่ยหลักร้อยล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากลูกค้าเริ่มเห็นประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์มากขึ้น เพราะดอกเบี้ยจะถูกลง ดังนั้นในปีหน้าธนาคารจะเริ่มทดลองตลาดนี้มากขึ้น โดยจะเริ่มเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าโครงการและเซ็กเตอร์ลูกค้าระดับบนก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559