ใบเหลืองไอยูยูไม่ระคายส่งออก คาดปีนี้สินค้าประมงแตะ 2.24 แสนล.-กุ้งโตวันโตคืน

12 ธ.ค. 2559 | 10:00 น.
“อดิศร” ยันอียูให้ใบเหลืองไม่กระทบภาพรวมส่งออกสินค้าประมงไทย คาดสิ้นปี 59 แตะ 2.24 แสนล้านบาท โต 6.6% ขณะเปิดแผนกรมประมง ปี 60 เด้งสนองนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ เดินหน้าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ด้านวงการอาหารแช่เยือกแข็งชี้ส่งออกกุ้งโตต่อเนื่อง

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่ทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทยจากมีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยูฟิชชิ่ง) ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 เป็นต้นมานั้น เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในภาพรวม เพราะเป็นแค่คำเตือน ทั้งนี้ไทยยังส่งออกสินค้าประมงไปจำหน่ายในอียู รวมถึงตลาดอื่นๆ ได้ตามปกติ โดยในปี 2559 นี้ คาดไทยจะส่งออกสินค้าประมงได้มูลค่าประมาณ 224,800 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6.6% (ดูตารางประกอบ)

ขณะที่แหล่งข่าวจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เผยว่า จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ส่งออกได้แล้ว 160,753 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูป (44,067.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.8%), ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาสดแล่แช่เย็นแช่แข็ง ปลาแปรรูป ปลาทูน่าแปรรูป (18,329.24 ล้านบาท ติดลบ 7.91%) และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็งและปลาหมึกแปรรูป(7,294.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.56%) รวมทั้ง 3 กลุ่ม ส่งออกได้มูลค่า 69,691.49 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 61,684.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.98%

“ในส่วนของสินค้ากุ้ง ภาพรวมการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกตลาด จากผลผลิตวัตถุดิบมีเพิ่มขึ้น แต่ยกเว้นตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู ที่ส่งออกติดลบ 6.4% จากสินค้าไทยถูกอียูตัดจีเอสพีและต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมาตั้งแต่ปี 58 กระทบความสามารถในการแข่งขัน และผลพวงจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของยุโรปยังไม่ดี”

อธิบดีกรมประมงกล่าวต่อถึงแผนงานของกรมในปี 2560 ว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาไอยูยูแล้ว ยังต้องเร่งดำเนินงานสนองนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในหลายโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการลดรายจ่ายในครัวเรือนให้กับเกษตรกร ทางกระทรวงจะดำเนินคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรที่มีแหล่งน้ำในไร่นาตัวเอง โดยจะสนับสนุนพันธุ์ปลา ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง โดยขอสนับสนุนอาหารปลา/ลูกปลา จากภาคเอกชนบางส่วน

ทั้งนี้เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ทฤษฎีแห่งการใช้น้ำ และการบริหารงานพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ เน้นถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินน้อย ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เช่น สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภค ตลอดทั้งปี มีการปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา เป็นต้น ไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยแนวพระราชดำริ “ ทฤษฎีใหม่” ได้กำหนดการจัดแบ่งพื้นที่เป็น 30-30-30-10 คือ ขุดสระ 30 % ปลูกข้าว 30% ปลูกพืชไร่/พืชสวน 30% และที่อยู่อาศัย 10 % ของพื้นที่ทั้งหมด

นอกจากนี้ทางกรมประมงได้มีการจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยสาขาวิชานิติศาสตร์เป็นที่ปรึกษากรมประมง เพื่อจัดเวทีรับฟังปัญหา ความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นสมาคม องค์กร ประมง ผู้ประกอบการด้านแปรรูปสัตว์น้ำและธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อใช้มาเป็นแนวทางการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 สาเหตุที่ต้องจ้างมหาวิทยาลัยศึกษา เพราะต้องใช้ตัวกลาง หากกรมทำเองจะโดนกล่าวหาอีกว่าไม่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการประมงกล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นที่ว่าจ้างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้จะใช้งบ 5.6 ล้านบาท เพื่อจัดเวทีกลุ่มย่อยในส่วนภูมิภาคอาทิ ระยอง พังงา สมุทรสงครามนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายต่อไปในอนาคต โดยวงการประมงจะได้ติดตามต่อไปว่า จะสามารถแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และที่สำคัญจะคุ้มกับงบประมาณที่ว่าจ้างทางมหาวิทยาลัยดำเนินการหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559