เร่งเจรจา RCEP-แอฟริกา ถกการค้าปี60เน้นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

13 ธ.ค. 2559 | 08:30 น.
ถือได้ว่าคลุกคลี่มากับกระทรวงพาณิชย์เกือบทุกกรมกองแล้วก็ว่าได้สำหรับ “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนมารับตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาฯ เป็นเอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก(WTO) “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษบุณยฤทธิ์ถึงแผนงานการเจรจาการค้าของไทยในกรอบต่างๆ ในปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง รวมถึงอัพเดตการเจรจาการค้าที่กรมรับผิดชอบอยู่ ดังรายละเอียดต่อจากนี้

 ปี 60 เน้นหุ้นส่วนศก.แทนFTA

“บุณยฤทธิ์” กล่าวว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ให้นโยบายในการทำงานของกรมนับจากนี้ให้เน้นความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญมากเพราะแม้ปัจจุบันไทยจะมีความตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอหลายฉบับ และยังมีการเจรจากรอบความตกลงเสรีใหม่ๆ อีก แต่สิ่งสำคัญ คือ ไทยยังต้องการความร่วมมือที่กว้างขึ้น นั้น คือ การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องลดภาษีระหว่างกันเหมือนกับเอฟทีเอ แต่อาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างกันในมุมมองต่างๆ เช่น ประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นหลักหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไทยก็จะไปหารือว่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือในด้านใดได้บ้าง เช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงถนน หรือการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการเป็นเป็นหุ้นส่วนความตกลงทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจจะช่วยให้วิน-วินทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งน่าจะช่วยให้การค้ามีความสะดวกมากขึ้น

“ทิศทางการทำงานของกรมในปีหน้าจะมาแนวทางนี้ ขณะเดียวกันการทำงานต้องมีความทันสมัย คือการสร้างความเป็นหุ้นส่วนซึ่งก็จะเพิ่มเติมจากงานเจรจากาค้าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หลังจากนี้กรมเองก็จะมาวางแผนการทำงานว่าจะดำเนินการอย่างไรในแต่ละประเทศที่ยังไม่มีเอฟทีเอ ซึ่งจะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน หลังจากนั้นก็มาจัดลำดับความสำคัญและเป้าหมายของงานที่ทำ”

  RCEP รุกคืบ-เร่งให้เร็วขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่พัฒนามาจากแนวคิด อาเซียน+3/อาเซียน+6(อาเซียน10ประเทศบวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ที่อาเซียนต้องการรักษาบทบาทในการเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาค ซึ่งในการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 15 เมื่อ 16-21 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ นครเทียนจิน ประเทศจีน ได้หารือเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันในประเด็นสำคัญ เช่น รูปแบบการยกเลิกภาษีการค้าสินค้าในส่วนที่เหลือ การกำหนดระดับการเปิดตลาดการค้าบริการ และการกำหนดกฎเกณฑ์การเปิดเสรีการลงทุน อย่างไรก็ตามได้มีการเจรจา RCEP-TNC ครั้งที่ 16 ในวันที่ 6 – 10 ธันวาคม2559 ที่อินโดนีเซีย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจสามารถตกลงข้อบทเพิ่มเติม เช่น นโยบายการแข่งขัน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการเพิ่มเรื่องต่างๆเข้าไปใน RCEP จะส่งผลให้ RCEP มีความสมบูรณ์ไม่ต่างไปจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่เวลานี้ได้สะดุดลง และจะทำให้ RCEP เร่งเจรจาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

  เดินหน้าเปิดเจรจาปท.ใหม่ๆ

กระทรวงพาณิชย์ยังเห็นว่าการพึ่งพาการค้ากับตลาดเดิมของไทยอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับกำลังการผลิตของประเทศ ขณะที่หลายตลาดส่งออกของไทยในปัจจุบันการนำเข้าก็ชะลอตัว อาจส่งผลต่อรายได้ของไทย ดังนั้นกระทรวงจะต้องแสวงหาโอกาสทางการค้าไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เป็นตลาดใหม่ของไทย ซึ่งยังมีระดับความสัมพันธ์ทางการค้าค่อนข้างน้อย การเจรจาการค้าระหว่างภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจสามารถใช้ต่อยอดได้ในอนาคต

“ประเทศในทวีปแอฟริกากรมได้จัดความสำคัญโดยเน้นเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 20 อันดับแรกจากทั้งหมด 54 ประเทศ นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับประเทศที่มีความได้เปรียบด้านที่ตั้ง โดยในปี 2560 กรมมีแผนจะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากับ แอฟริกาใต้ เคนยา และโมซัมบิก”

 เร่งถกเอฟทีเอที่ยังค้าง

นอกจากการเน้นเจรจาความเป็นหุ้นส่าวนทางเศรษฐกิจตามนโยบายของกระทรวงแล้ว การเจรจาเอฟทีเอที่กรมดำเนินการอยู่ก็ยังคงเดินหน้า เช่นเอฟทีเอ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาทบทวนความตกลงเปิดเสรีการลงทุน และเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านบริการ โดยจะพิจารณาต่อในปี 2560 ,เอฟทีเอ อาเซียน-จีน โดยการเปิดเพิ่มเติมหลายสาขาบริการ อาทิ บริการให้คำปรึกษาสถาปัตยกรรม กฎหมาย บริการในสาขาการท่องเที่ยว โรงแรม บริการตัวแทนท่องเที่ยว/จัดการท่องเที่ยว บริการขนถ่ายสินค้าทางทะเล เป็นต้น ,เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการเจรจาทบทวนการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมภายใต้ความตกลง JTEPA ,เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย จะต้องทบทวนความตกลง และเจรจาเรื่องการค้าบริการ นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ และมาตรการปกป้องพิเศษ ส่วนด้านการค้าบริการ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างหารือเรื่องรูปแบบ/แนวทางการเจรจา เพื่อเปิดตลาดสาขาบริการเพิ่มเติม ,เอฟทีเอ ไทย-เปรู อยู่ระหว่างสรุปผลการเจรจาความตกลงฉบับสมบูรณ์ และเอฟทีเอ ไทย-ชิลี อยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อตกลง

 ลุ้นไทย-อินเดียเจรจาจบ

ส่วนเอฟทีเอไทย-อินเดีย อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอฉบับสมบูรณ์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม เช่น การค้าบริการและการลงทุน ส่วนการค้าสินค้า ไทยและอินเดียได้กลับมา รื้อฟื้นการเจรจาการเปิดตลาดการค้าสินค้าอีกครั้งหลังจากหยุดการเจรจามาระยะหนึ่ง เพื่อขยายการเปิดตลาดเพิ่มจากสินค้า 83 รายการที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว โดยล่าสุด อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย ครั้งที่ 30 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

“ส่วนการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปหรืออียูนั้น ยังคงมีการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่อยู่ เพราะทางอียูเองน่าจะรอให้ไทยมีการเลือกตั้งก่อนถึงจะมีการเจรจากับผู้นำ”

 ทีพีพีต้องจับทรัมป์อีกครั้ง

สำหรับข้อตกลงการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพีที่นายโดนัลด์ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ประกาศจะนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว แต่หลายฝ่ายยังมองว่าเมื่อนายทรัมป์ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้วอาจกลับลำเข้าร่วมนั้น ท้ายที่สุดแล้วคงต้องรอดูนโยบายของนายทรัมป์ว่าจะมีทิศทางอย่างไร

“ข้อตกลงทีพีพีขณะนี้ทางนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กำลังจะหมดวาระยังไม่ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและการพิจารณาไม่น่าจะทันภายในปีนี้ ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดว่าหากครบกำหนด 2 ปี แล้วข้อตกลงนี้ยังไม่ผ่านสภา แต่หากมีสมาชิก 6 ประเทศที่มีจีดีพีรวมกันมูลค่า อย่างน้อย 85% ของมูลค่าจีดีดรวมทุกประเทศสมาชิกให้สัตยาบันรับรอง ข้อตกลงทีพีพีจะมีผลบังคับใช้ทันที แต่จากสมาชิกทีพีพี 12 ประเทศปรากฏว่า สหรัฐฯ ประเทศเดียวมีขนาดจีพีพีถึง 60%ดังนั้นการจะรวมเอาจีดีพี 85% โดยไม่มีสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย จะเป็นไปไม่ได้เลย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559