อีซีบีขยายเวลาซื้อพันธบัตร เตือนปัจจัยเสี่ยงการเมืองปีหน้า

12 ธ.ค. 2559 | 09:07 น.
อีซีบีตัดสินใจยืดเวลามาตรการซื้อพันธบัตรออกไปถึงสิ้นปีหน้า แต่สร้างความประหลาดในด้วยการลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรลง ด้านประธานอีซีบียืนยันธนาคารพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มถ้ามีความจำเป็น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อวันพฤหัสดบีที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา อีซีบีมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาในการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี ออกจากไปจนถึงเดือนธันวาคมปี 2560 หรือนานกว่านั้น จากเดิมที่นโยบายดังกล่าวมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า

อย่างไรก็ดี อีซีบีกล่าวว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป มูลค่าการซื้อพันธบัตรต่อเดือนภายใต้นโยบายคิวอีจะถูกปรับลดลงจาก 8 หมื่นล้านยูโรในปัจจุบันเหลือ 6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนที่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนและนักวิเคราะห์

ด้านนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี กล่าวยืนยันว่า อีซีบียังคงมีความพร้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตรขึ้น ถ้าเศรษฐกิจยูโรโซนมีสัญญาณว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพิ่มเติม ขณะเดียวกันปฏิเสธว่าการปรับลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรของอีซีบีในครั้งนี้ ไม่ใช่การ "tapering" หรือเตรียมตัวยุตินโยบายคิวอีด้วยการทยอยลดการซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นคำที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นำมาใช้เมื่อครั้งที่เตรียมยุตินโยบายคิวอีของตนเอง

ดรากีกล่าวว่า นโยบายทางการเงินที่ผสมผสานอัตราดอกเบี้ยต่ำและคิวอี ได้ช่วยสนับสนุนความต้องการภายในประเทศของยูโรโซน และเศรษฐกิจได้รับการคาดหมายว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากแต่มีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เลวร้ายลง และอัตราเงินเฟ้อเติบโตได้ไม่มากเพียงพอ อีซีบีมีโอกาสเพิ่มขนาดการซื้อพันธบัตร และ/หรือขยายเวลาของมาตรการดังกล่าว

อีซีบีคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปีนี้ไว้ที่ 1.7% เท่ากับอัตราการเติบโตในปี 2560 ก่อนจะชะลอตัวเล็กน้อยเหลือ 1.6% ในปี 2561 และ 2562 ขณะเดียวกันคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไว้เพียง 1.3% ในปีหน้า 1.5% ในปี 2561 และ 1.7% ในปี 2562 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายใกล้เคียง 2% ที่อีซีบีกำหนดไว้

การตัดสินใจขยายมาตรการคิวอีเกิดขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การทำประชามติของสหราชอาณาจักร การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และล่าสุดคือการทำประชามติของอิตาลี ไปจนถึงการเลือกตั้งสำคัญในหลายประเทศของยูโรโซน อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ในปีหน้า

"เพียงแค่ดูปฏิทินการเลือกตั้งในอีกหนึ่งปีต่อจากนี้ นั่นเป็นต้นกำเนิดของความไม่แน่นอน ดังนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ส่วนใหญ่เป็นในเชิงการเมือง และเราทำอะไรกับมันได้หรือไม่นั่นเป็นคำถามเปิด ผมคิดว่าสิ่งที่ธนาคารกลางทำได้คือรักษาความมีเสถียรภาพ" นายดรากีกล่าว

นายยอร์ก คราเมอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากคอมเมิร์ซแบงก์ ให้ความเห็นว่า "การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลสร้างบรรยากาศที่ทำให้รัฐมนตรีคลังและนักการเมืองดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็นได้ลำบาก และยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่ออีซีบีในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะด้วยการผ่อนคลายนโยบายการเงิน"

นายดรากีกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2559 "เหตุการณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะเบร็กซิทและรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบซึ่งจะมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ในระยะกลางและระยะยาว เราจะได้เห็นผลกระทบของมันอย่างแน่นอน แม้ว่าเวลานี้จะประเมินได้ยากมาก"

ประธานอีซีบีกล่าวถึงผลสืบเนื่องจากการทำประชามติของอิตาลีเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน จนเป็นเหตุให้นายมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลีลาออกจากตำแหน่งว่า อิตาลีจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ว่าวิกฤติการเมืองของประเทศจะคลี่คลายไปในทางใด "ความเปราะบางของทั้งระบบธนาคารและเศรษฐกิจอิตาลีเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว พวกเขาจะต้องรับมือกับมัน และผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลรู้ว่าจะทำอย่างไร"

ทั้งนี้ การขยายเวลาใช้นโยบายคิวอีของอีซีบี เกิดขึ้นในเวลาที่เฟดถูกคาดหมายว่าจะประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบปี ในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคม สะท้อนถึงทิศทางนโยบายที่สวนทางระหว่างธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง เจนนิเฟอร์ แมคคีโอน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษา แคปิตอล อีโคโนมิกส์ มองว่าอีซีบีจะเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตรขึ้นอีกครั้งในปีหน้า แต่แม้ว่าจะไม่เพิ่ม อีซีบีจะยังใช้นโยบายที่ผ่อนคลายกว่าสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงิยูโรอ่อนค่าลงอีก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559