คลื่นทุนจีนทะลักตลาดใหม่อาเซียน

14 ธ.ค. 2559 | 03:00 น.
การลงทุนจากประเทศจีนกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า และกำลังทำให้กัมพูชา ลาว รวมทั้งเมียนมา กลายเป็นตลาดจุดหมายปลายทางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับสินค้านานาชนิดที่ส่งออกมาจากจีน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นพลังขับเคลื่อนจีดีพีของ 3 ประเทศดังกล่าวข้างต้นให้ขยายตัวในอัตรารวดเร็วที่สุดในโลก ขณะเดียวกันบริษัทของจีนเองก็มีแหล่งลงทุนต้นทุนต่ำเป็นทางเลือกและทางรอดเนื่องจากค่าแรงในจีนเองถีบตัวสูงขึ้นมากจนต้องเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมบางประเภทออกนอกประเทศ

นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของทุนจีนยังเข้ามาแทนที่บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย ที่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่ประกาศออกมาเป็นไปในทิศทางปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯและเน้นกิจการภายในมากกว่าที่จะมองออกนอกตัว นายเอ็ดเวิร์ด ลี นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า จีนเล็งเห็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีขอบแนวชายแดนติดจีน อาทิ กัมพูชา ลาว และเมียนมา เป็นทั้งฐานการผลิตที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและยังเป็นตลาดรองรับสินค้าจากจีนได้มากขึ้น

 เงินทุนจีนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การลงทุนของจีนในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ชื่อว่า frontier market หรือเป็นตลาดบุกเบิกใหม่ของอาเซียนที่ยังมีโอกาสขยายตัวสูงอยู่นั้น ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นการขนส่งระบบราง และโครงการอสังหาริมทรัพย์ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ล่าสุดปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทไชน่า มินเฉิง อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป ได้เข้าไปจับมือเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท แอลวายพี กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมหลากแขนงของกัมพูชา (เจ้าของคือนาย หลี ยง พัต วุฒิสมาชิกและนักธุรกิจคนดังจากเกาะกง) โครงการนี้มีมูลค่าสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 53.7 หมื่นล้านบาท เป็นการสร้างศูนย์การประชุมและนิทรรศการ โรงแรม สนามกอล์ฟ และสวนสนุกบนพื้นที่ 2,000 เฮคเตอร์ (กว่า 12,000 ไร่) ใกล้เมืองหลวงพนมเปญ มูลค่าการลงทุนนั้นเทียบได้กับ 1 ใน 10 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่ที่ระดับ 15,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกเหนือจากด้านการลงทุนแล้ว ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและกัมพูชายังขยายตัวตามอย่างรวดเร็วโดยปีที่ผ่านมา จีนและกัมพูชามีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านดอลลาร์ฯ (กว่า 1.71 แสนล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับสถิติในปี 2555

T10321702 ส่วนในประเทศลาว ปัจจุบันทุนต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดได้แก่ทุนจีน โครงการพัฒนาการขนส่งระบบรางสำหรับรถไฟความเร็วสูงที่จะเริ่มจากชายแดนจีน-ลาวมายังกรุงเวียงจันทน์ระยะทางรวม 414 กิโลเมตร เป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตา การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (2558) มูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.93 แสนล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ One Belt, One Road ของจีน แม้จะมีความล่าช้าในระยะแรก แต่นับจากปีที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายทำพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการในกรุงเวียงจันทน์งานก่อสร้างก็เริ่มมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ขณะที่ลาวมีมูลค่าจีดีพีที่ประมาณ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 มูลค่าของอภิมหาโปรเจคท์นี้จึงมีสัดส่วนเกินครึ่งของจีดีพี

ด้านเมียนมาหลังปฏิรูปประเทศโดยมีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งและเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นจนเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจีดีพีในปี 2559 นี้จะเติบโตที่อัตราถึง 8.1% ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอิรัก (โดยการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ทุนจีนก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนอันดับ1 เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของเมียนมาที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 40 % (ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของเมียนมาในปี 2558) และกำลังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ทางชายฝั่งภาคตะวันตกของเมียนมา ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและท่าเรือน้ำลึก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า กัมพูชา ลาว และเมียนมา จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้(2559) ที่อัตรา 7% 7.5% และ 8.1% ตามลำดับ ซึ่งหมายถึงรายได้ประชากรที่สูงขึ้นและความยากจนลดลง สะท้อนจากสถิติของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ชี้ว่า จำนวนประชากรกัมพูชาในกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 68 บาท) นั้นมีสัดส่วนลดลงจากที่เคยมีอยู่ถึง 30% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2537 เหลือเพียง 2.2% ในปี 2555 ส่วนในลาว จำนวนประชากรที่ยากจนลดลงจากสัดส่วน 22.9% ในปี 2535 เหลือเพียง 16.7% ในปีนี้

 โอกาสมาพร้อมความเสี่ยง

เดอเร็ค ซิสเซอร์ส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันไชน่า เบจ บุ๊ค อินเตอร์เนชั่นแนล ในมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยการลงทุนของจีนในต่างประเทศให้ความเห็นว่า เงินทุนของจีนส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา เป็นเงินลงทุนในรูปเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างต่างๆที่บริษัทจีนเป็นผู้ได้รับสัมปทานในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก จากการศึกษาพบว่า มูลค่าของโครงการลงทุนด้านการก่อสร้างต่างๆของจีนในประเทศลาวนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีสัดส่วนประมาณ 15% ของจีดีพีลาวทั้งประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า เงินมูลค่ามหาศาลขนาดนั้นลาวไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากประเทศอื่นแน่ๆ “การผลิตกระแสไฟฟ้าในสปป.ลาวเป็นการลงทุนของจีน ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีไฟฟ้าใช้” ซิสเซอร์สระบุ พร้อมเปิดเผยว่า ในเมียนมาก็มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านพลังงานและเหมืองแร่

เมื่อมีการลงทุนของจีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งกัมพูชา ลาว และเมียนมา ก็มีความเชื่อมโยงในด้านซัพพลายเชนกับจีนมากขึ้นด้วยเช่นกัน โรงงานของจีนในประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตจากจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าที่ผลิตสำเร็จรูปจากโรงงานเหล่านี้ อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า กลับเข้าไปยังจีนมากขึ้นด้วย สถิติของไอเอ็มเอฟชี้ว่า ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าจาก 3 ประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เหรียญมี 2 ด้านเสมอ การพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับทุนจีนมากเกินไปก็มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างกรณีของกัมพูชา ซึ่งจีนเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด แต่ขณะเดียวกันพบว่า หนี้ของกัมพูชาราว 43 % มีจีนเป็นเจ้าหนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปหนี้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีนที่ปล่อยให้กับรัฐบาลกัมพูชา นักวิเคราะห์ยังกล่าวด้วยว่า ในห่วงโซ่การผลิตนั้น โรงงานผลิตของกัมพูชา เช่นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่ ยังอยู่ในปลายด้านล่างสุดของห่วงโซ่ซึ่งได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิด ทั้งยังไร้อำนาจต่อรองใดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กัมพูชาก็เป็นฐานการผลิตที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในสายตาบริษัทผู้ผลิตของจีน เนื่องจากอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ One Belt, One Road และค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยเดือนละ 121 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหรือ 1 ใน 5 ของค่าจ้างเฉลี่ยในจีน (เดือนละ 613 ดอลลาร์ฯ)

“ความเสี่ยงที่สุดสำหรับบรรดาประเทศตลาดบุกเบิกใหม่ของอาเซียนก็คือ ทุนจีนที่หลั่งไหลเข้ามาได้สร้างกลุ่มผู้ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่กลุ่มหรือไม่กี่บุคคลทำให้พวกเขามีอำนาจมากเกินไป” ซงเซง วุน นักเศรษฐศาสตร์จากซีไอเอ็มบี ไพรเวท แบงกิ้ง ให้ความเห็นและอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลประโยชน์และความมั่งคั่งที่ไปกระจุกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่มจะนำไปสู่ปัญหาและภาวะไร้สเถียรภาพ ทางแก้คือการพัฒนากลุ่มคนรายได้ปานกลางขึ้นมาให้เข้มแข็งและสร้างสมดุล ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็คือผู้บริโภคที่ทุนจีนให้ความสำคัญในฐานะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559