ธนารักษ์รั้งสิทธิ์พัฒนามักกะสัน ชง‘ประยุทธ์’ชี้ขาดเดือนนี้ สบน.จี้รถไฟส่งมอบพื้นที่

13 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
ธนารักษ์ยึดมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รักษาสิทธิ์พัฒนาที่ดินมักกะสันแลกปลดหนี้การรถไฟ 6.1 หมื่นล้านบาท ลุ้นสคร.ชงนายกรัฐมนตรีชี้ขาดธันวาคมนี้

แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงแผนพัฒนาที่ดินมักกะสัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด จะเป็นผู้ที่ตัดสินว่าจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ กรมธนารักษ์ ได้สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินดังกล่าว โดยคาดว่าสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้

คนร.เคยมีมติให้รฟท.ซึ่งเป็น 1 ใน 7 รัฐวสาหกิจ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมักกะสัน จำนวน 497 ไร่ ให้กระทรวงการคลังเช่า 99 ปี นำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อแลกกับการลดหนี้ของรฟท.จำนวน 6.1 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมธนารักษ์และรฟท.จะต้องเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอคนร.ประกอบการพิจารณา โดยในส่วนของกรมธนารักษ์ ได้เตรียมข้อมูล 3 ด้านได้แก่ 1.กรอบเวลาในการส่งมอบพื้นที่จากรฟท.ว่าจะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จเมื่อใด เพื่อให้กรมธนารักษ์สามารถนำไปจัดทำแผนพัฒนาได้เต็มศักยภาพ
2.วิธีการชำระหนี้ของรฟท.ว่าจะใช้เป็นการชำระหนี้ หรือแลกหนี้ให้กับกรมธนารักษ์ และ 3.ศึกษาทำแผนลงทุนภายใต้ความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partner ship) หรือ PPP รวมถึงแนวทางในการจ้างภาคเอกชนในฐานะที่ปรึกษาโครงการที่มีความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากโครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า คุณสมบัติของบริษัทที่ปรึกษา กรมธนารักษ์จะให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นฝ่ายคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสบน. ประมาณ 5-6 ราย โดยคุณสมบัติจะต้องมีความรู้ความสามารถ เคยผ่านการเป็นที่ปรึกษาโครงการที่มีขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่หลัก 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

“โครงการมักกะสันเดินหน้ามาก็หลายรัฐบาลจนสุดท้ายมาตกผลึกในรัฐบาลชุดนี้ ที่ผ่านมาก็ทราบกันว่าโครงการอยู่ในมือของการรถไฟฯมาตลอดแต่ก็ไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้ ซึ่งหากท้ายสุดแล้วซูปเปอร์บอร์ดสรุปว่าให้กรมธนารักษ์เข้ามาพัฒนาโครงการ ก็ค่อนข้างกังวลว่าจะเกิดคลื่นใต้น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น แต่หากให้การรถไฟพัฒนาคลื่นใต้น้ำก็คงไม่น่าเป็นห่วง”

แหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามขั้นตอนการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการ สบน.จะคัดเลือกจากรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียนไว้ อาจคัดเลือกรอบแรก 20 รายชื่อบริษัทก่อน และคัดให้เหลือ 10 บริษัท และท้ายสุดท้ายตัดให้เหลือเพียงบริษัทเดียว และต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนจะมีการลงนามในพีพีพี

กระบวนการคัดเลือกต้องพิจารณาจากความสามารถ ทุนจดทะเบียน ประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาโครงกรลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงๆทั้งในและต่างประเทศ ที่ปรึกษา จะทำหน้าที่ออกแบบโครงการ ทั้งการแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ การใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่จอดรถ อาคารรวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง ที่สำคัญอัตราผลตอบแทนที่จะให้กับผู้ร่วมลงทุน

แหล่งข่าว กล่าวว่า คงเป็นไปเรื่องยากที่ รฟท.จะดำเนินการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเอง เนื่องจากผลงานอดีตและปัจจุบัน มียอดขาดทุนสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท จนนำมาสู่คำสั่งของคนร.ให้แลกหนี้ 6 หมื่นล้านบาท กับที่ดินมักกะสัน สะท้อนว่าหากรฟท.ได้โปรเจคนี้ไปบริหาร มีความเสี่ยงที่จะกลับสู่ปัญหาเดิมๆ

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการรถไฟต้องเร่งส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมธนารักษ์ เพราะหากไม่มีการส่งมอบพื้นที่แล้วก็จะไม่สามารถพัฒนาหรือทำอย่างไรได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่คืน หากกรมธนารักษ์เข้าไปพัฒนาก็เท่ากับว่านั่นคือการบุกรุกเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง”

“หากมองย้อนไปโครงการมักกะสันเกิดขึ้นมาแต่ไม่สามารถพัฒนาได้จริงเรียกว่าได้ผ่านมาในหลายรัฐบาล ตั้งแต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนถึงนายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปจั จบุ นั ดงั นั้นหากการรถไฟฯ ยังยึกยักไม่ยอมส่งมอบพื้นที่คืนก็เป็นไปได้ว่าโครงการจะไม่สำเร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้ และอาจต้องยืดเยื้อไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป ซํ้าร้ายไม่มีกำหนดว่าโครงการนี้จะมีสิทธิ์ได้เกิดในชาตินี้หรือไม่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559