ผ่าแผนป้องแชมป์‘ธนชาต’ ผู้นำเช่าซื้อรถใหม่-รถแลกเงิน

14 ธ.ค. 2559 | 05:00 น.
ภาพรวมตลาดเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2559 ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ใหม่ แต่ผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 3 ยังสะท้อนอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย (ROAA)อยู่ที่ 1.34% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเฉลี่ย(ROAE) อยู่ที่ 10.46%

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ธนชาตมีสินเชื่อคงค้างรวม 342,895 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 369,309 ล้านบาท โดยพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว แบ่งเป็นสินเชื่อรถยนต์ใหม่ในสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็นสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งก็เพียงพอให้กลุ่มธนชาตยังเป็นเบอร์1 ในตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่

“ธีรชาติ จิรจรัสพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ใหม่และทิศทางสินเชื่อเช่าซื้อปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 ว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อปีนี้สอดคล้องกับตลาดรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ แต่ส่วนตัวมองยอดคงค้างสินเชื่อรวมทั้งระบบยังทรงตัว

ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากรถคันแรกที่มีการชำระคืน แม้ในความเป็นจริงจะมียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตก็ตาม และที่เหลือยังพอมีปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการทำตลาดหรือปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ

สำหรับปีหน้าส่วนตัวเชื่อว่าจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อทั้งระบบประมาณ 3%จากสิ้นปีนี้ที่ทรงตัว
ยอดขายรถยนต์ใหม่ในรอบ 9 เดือน ยังสะท้อนปริมาณเติบโตที่ชะลอ แต่ทั้งปีตัวเลขน่าจะแตะ 7.5 แสนคัน และแนวโน้มปีหน้าจะเพิ่มเป็น 8 แสนคัน ซึ่งในจำนวนนี้ ธนาคารธนชาต ขอเอี่ยวสินเชื่อเพียง 5%

สำหรับกลยุทธ์รักษาส่วนแบ่งทางตลาดให้เป็นที่หนึ่งของธนชาตนั้น จะให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรในการขยายธุรกิจทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ เช่น ความร่วมมือกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ (Captive Finance) อย่างบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย)ฯ สินเชื่อสำหรับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floor Plan) สินเชื่อรถใช้แล้ว และรถแลกเงิน รวมถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆในการเสนอบริการกับลูกค้าเก่า ซึ่งธนชาต มีฐานลูกค้ามากกว่า 1 ล้านรายและเชื่อว่าในจำนวนนี้มีความต้องการสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 20%

จุดแข็งของธนชาตที่สำคัญอีกอย่างคือระบบ T-APP ซึ่งเป็นระบบเครดิตสกอริ่ง (Bureau Scoring) ที่ธนชาตเป็นธนาคารแห่งแรกได้พัฒนานวัตกรรมสินเชื่อรถยนต์ ที่สามารถล็อคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ

“ที่ผ่านมาเราพัฒนาระบบเครดิตสกอริ่งเพื่อให้ล็อคกลุ่มเป่าหมายได้ชัดเจนขึ้น เพราะระบบดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งเครดิตไลน์ หรือการบริหารสต๊อกรถยนต์ ซึ่งระบบมีการจัดเกรดไว้ถึง 15 ระดับ จึงสามารถเสนอบริการได้ตรงจุด ทำให้พอร์ตสินเชื่อดีขึ้น”

ด้านการปล่อยสินเชื่อ พิจารณาให้วงเงินที่สอดคล้องและสมเหตุสมผลกับระบบเครดิตสกอริ่ง และสินเชื่อรถใช้แล้ว รถแลกเงินนั้นการอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ยังขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของรถยนต์ด้วย เช่น รถยนต์อายุ 5 ปี วงเงินอนุมัติจะสูงสุดถึง 100% กรณีรถยนต์มีอายุการใช้งานมาแล้ว 7 ปีจะพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 80%

ส่วนแนวทางการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ธนชาตสามารถควบคุมเอ็นพีแอลทยอยปรับลดอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเดือนกันยายนที่ผ่านมามีจำนวน 12,977 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 18,293 ล้านบาท และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มเป็น 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 121%

“ธีรชาติ” ระบุว่า แนวโน้มต่อไปจะเห็นธนชาตบุกตลาดเฉพาะ Segment และสามารถทำกำไรได้ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และกระบวนการทำงานที่มีนวัตกรรมเพิ่มความสะดวก รวดเร็วทั้งสำหรับลูกค้าและทีมงานมีความคล่องตัว ที่สำคัญการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย รวมทั้งสาขาของธนาคารธนชาตเป็นจุดให้บริการที่ดี ขณะเดียวกันยังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าชำระค่างวดผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งออนไลน์ทางโมบาย แอพพลิเคชัน เป็นต้น

อีกทั้งเน้นการสร้างแบรนด์ธนชาตให้เป็นที่จดจำและสร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมทางการตลาดและโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559