ลือกันกุลฮุบวินด์ เอนเนอร์ยี่ กลุ่มเคพีเอ็น จำนน-ใบหุ้นค้ำประกันเริ่มขยับ

12 ธ.ค. 2559 | 03:05 น.
หุ้น “กันกุล” ซื้อขายสนั่น ราคาพุ่งโวลุ่มพอง วงในกระพือข่าวปิดดีลซื้อวินด์เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) จากกลุ่มเคพีเอ็นใช้วิธีแลกหุ้น

ราคาหุ้นกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ปรับตัวขึ้นแรง ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายหนาแน่นตลอดต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 9 ธันวาคม ราคาวิ่งขึ้นไปปิด 5.85 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท หรือ 6.36 % มูลค่าซื้อขาย 494.41 ล้านบาท

แวดวงนักลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มมีการพูดถึงหุ้นกันกุล ฯ ที่สนใจลงทุนในบริษัท วิน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานลมขนาดใหญ่ของไทยและภูมิภาคเอเซีย สอดคล้องกับกันกุล ทำธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม เช่นกัน การได้วิน เอ็นเนอร์ยี่ ช่วยเสริมให้กันกุล เป็นผู้ประกอบการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ขึ้น ขณะนี้การเจรจาระหว่างกันกุล และกลุ่มเคพีเอ็น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี่ คอร์ปอเรชั่น (REC ) และ REC เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในวิน เอ็นเนอร์ยี่ 60 % จบกับกันกุลแล้ว

แหล่งข่าวเชื่อว่า กลุ่มเคพีเอ็น มีโอกาสจบการซื้อขายหุ้นวิน เอ็นเนอร์ยี่ กับกันกุน มากกว่ารายอื่นที่เสนอความสนใจซื้อหุ้น และมีความเป็นไปได้สูงมาก ดูจากอาการหุ้น GUNKUL ที่ออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งราคาและมูลค่าซื้อขายที่สูงผิดปกติจากการวิเคราะห์แหล่งที่มาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินและผู้สนับสนุนสินเชื่อให้กับบริษัท กันกุล จะเป็นคนกลางที่ปิดดีลนี้ให้กับกันกุล เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งของวิน เอ็นเนอร์ยี่ ด้วย จึงจับกันกุล กับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ วินเอ็นเนอร์ยี่ เข้ามาเจรจากัน เปิดทางให้โครงการของ WEH เดินหน้าต่อไปได้

แหล่งข่าววงในตลาดทุน ยอมรับว่า การเจรจาระหว่างกันกุล และ เคพีเอ็น ใกล้จบเหลือเพียงเอกสารบางส่วนเท่านั้นที่ต้องดูรายละเอียดก่อนเซ็นสัญญา สำหรับการซื้อขายในรายละเอียดยังไม่มีมากนัก เบื้องต้นน่าจะเป็นการแลกหุ้นระหว่างกันกุน กับวินเอ็นเนอรยี่ และขณะนี้หุ้นวินเอ็นเนอร์ยี่ ที่วางเป็นหลักประกันเริ่มมีการขยับเรียกคืนแล้ว เพื่อนำไปไถ่ถอนคืน

ที่มาของกลุ่ม เคพีเอ็น ที่ยอมคายหุ้นวิน เอ็นเนอร์ยี่ ออกมา มีสาเหตุจากกลุ่ม เคพีเอ็น ซึ่งไปซื้อหุ้น REC หรือชื่อใหม่ เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ จำกัด ราว 60 % จากนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มเคพีเอ็น ได้ออกตั๋วแลกเงินเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าซื้อหุ้นให้กับนายนพพร โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ซึ่งงวดแรกมีการชำระแล้ว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงของการซื้อเมื่อปีปลายปี 2557

สำหรับเงินที่เหลือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงขณะนี้กลุ่มเคพีเอ็น ไม่สามารถชำระเงินได้ตามเงื่อนไข ประกอบกับนายนพพร โดนคดีหนีไปต่างประเทศ ยากต่อการตามเงินค่าซื้อ และคิดว่าการที่นายนพพร หลบคดีลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถตามเงินได้ หนี้ที่เหลือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่มีการชำระกัน

กระทั่งนายนพพร ที่ลี้ภัยคดีอยู่ประเทศฝรั่งเศส ได้ฟ้องร้องกลุ่มเคพีเอ็นมาระยะหนึ่งแล้ว ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดือนมีนาคม ปี 2560 จะมีการไต่สวน

“ดีลซื้อ วินเอ็นเนอร์ยี่ ของกลุ่มเคพีเอ็น ใช้วิธีการออกตั๋วแลกเงิน โดยมีนาย ส. ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนโซลาลีส เป็นผู้ออกตั๋วแลกเงินให้ ซึ่งนพพร ที่นำหุ้นไปขายให้กลุ่มเคพีเอ็น เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้มีเงินและสามารถเคลียคดีได้ จึงยอมขายและโอนหุ้นทั้งหมดให้ไป โดยสัญญาจ่ายเงินเป็นล็อตล็อตแรก 100 ล้านเหรียญสหรัฐจ่ายไปแล้ว ที่เหลือกลุ่มคนซื้อเห็นว่านายนพพร หนีคดีไปฝรั่งเศส และการดึงทนายชื่อดัง วิชัย ทองแตง เข้ามาช่วย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ การยื้อของนายณพ ณรงค์เดช ผุ้บริหารเคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ ไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ทำให้โครงงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการชะงัก บริษัทไม่สามารถเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ถึงทุกวันนี้ “

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า หากดูขนาดของกันกุลแล้ว การซื้อธุรกิจวินด์ เอนเนอร์ยี่ ที่มีขนาด 8หมื่นล้านบาท โดยซื้อจาก KPN ที่ถือหุ้นวินด์ 60% หรือราว 4 หมื่นล้านบาท มีความเป็นไปได้ยาก และนายกันกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่กันกุล รักหุ้นตัวนี้มาก ไม่น่าจะยอมแลกหุ้น แต่ถ้าซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ได้ จะดีทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้บริษัทกันกุล แข็งแรงยิ่งขึ้น

จากการสอบถามไปยังนายณพณรงค์เดช ที่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถคุยรายละเอียดใดๆ ได้
ทั้งนี้ เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นใน WEH อยู่ที่ 59.5% ส่วน WEH ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2552 เป็นบริษัทด้านพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของไทยและภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ดำเนินกิจการวินด์ฟาร์ม (ทุ่งกังหันลม) เชิงพาณิชย์ โดยมีฟาร์ม 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมถึง 207 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนครราชสีมา และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 6โครงการในพื้นที่ที่มีศักยภาพและน่าสนใจในการผลิตพลังงานลมในไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559