เส้นทางครม.ประยุทธ์1-4 ปรับเล็กสยบแรงกระเพื่อม

13 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีใหม่ ส่งผลต่อเนื่องถึงการปรับเปลี่ยนในคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง

เนื่องจาก 2 ใน 10 องคมนตรีชุดใหม่ มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รวมอยู่ด้วย ซึ่งต้องพ้นจากการเป็นรมว.กระทรวงศึกษาธิการ และรมว.กระทรวงยุติธรรมตามลำดับ

สมทบกับอีกหนึ่งคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่นายอุตตม สาวนายน ลาออกจากรมว.ไอซีที
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการจัดและปรับครม. ของพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา จะดำเนินการเท่าที่จำเป็น จำกัดวงและมีจังหวะ

จากครม.ประยุทธ์ 1 ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯและหัวหน้าคสช. เมื่อวันที่ 31สิงหาคม 2557 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557มีรัฐมนตรี 32 คน 34 ตำแหน่ง รวมนายกฯอีก 1 คน

เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 1 จึงมอบหมายคนของคสช.ที่เคยกำกับดูแลงานแต่ละด้าน เข้าไปนั่งในกระทรวงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานต่อเนื่อง จึงเป็นครม.ที่เต็มไปด้วยทหาร-ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงที่แวดล้อมคสช.เป็นหลัก โดยในระนาบรองนายกฯ มี พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ ควบรมว.กระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ปฏิมาประกร เป็นรองนายกฯควบรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ให้นายวิษณุเครืองาม รองนายกฯเพื่อเป็นมือกฎหมายและมีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ร่วมเป็นรองนายกฯและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมีนายทหารนั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แม้กระทั่งในกระทรวงเศรษฐกิจ อาทิ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองเป็นรมว.กระทรวงคมนาคม ต่อเนื่องจากที่ได้รับมอบหมายจากคสช.ให้กำกับดูแลงานโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่คสช.ยังใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ขับเคลื่อนการบริหารประเทศ โดยตั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐเป็นรมช.กระทรวงคมนาคม โดยยังควบตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรมว.กระทรวงพาณิชย์ มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตข้าราชการระดับบริหารกระทรวงพาณิชย์มาเป็นรัฐมนตรีช่วย

นอกจากนี้อดีตผู้นำเหล่าทัพที่ร่วมในคณะคสช. และนายทหารใกล้ชิดยังแยกย้ายไปประจำการในกระทรวงต่าง ๆอาทิ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ พล.ต.อ.อดุลย์แสงสิงแก้ว เป็นรมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรมว.กระทรวงมหาดไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์เป็นรมว.กระทรวงแรงงาน เป็นต้น

ครม.เศรษฐกิจอื่นนั้นเป็นทีมของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีอาทิ นายสมหมายภาษี รมว.กระทรวงการคลัง นายปีติพงศ์พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นรมว.กระทรวงเกษตรฯ นายพรชัย รุจิประภา รมว.กระทรวงไอซีที นายณรงค์ชัย อัครเศรณีรมว.กระทรวงพลังงาน นายจักรมณฑ์ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ที่เคยเป็นมือเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคสช. แทน เพื่อลดกระแสต่อต้านของมวลชน

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์1 เร่งผลักดันการใช้งบประมาณรายจ่ายและงบค้างท่อ พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกแรก แต่วงจรเศรษฐกิจโลกในช่วงชะลอตัว การฟื้นตัวเปราะบางและราคาพืชผลการเกษตรหลักอยู่ในช่วงขาลง กระทบกำลังซื้อของประชากรในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคายางพารา ที่ลดจากที่เคยสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 120 บาท เหลือไม่ถึงครึ่ง กดดันให้รัฐบาลต้องตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม 2 คนเข้ามาช่วยงาน คือ นายอำนวย ปะติเส มาเป็นรมช.กระทรวงเกษตรฯช่วยแก้ปัญหายางพาราและนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณเป็นรมช.กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน2557

ระหว่างนั้นการปีนเกลียวระหว่างนายกฯประยุทธ์กับม.ร.ว.ปรีดิยาธร จากวงในก็เริ่มปรากฏสู่สาธารณะ จนในที่สุดนำมาสู่การปรับใหญ่ครม.เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ครม.พ้นตำแหน่งและแต่งตั้งครม.ใหม่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 มีผลเป็นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่แทบยกชุด ประกอบด้วย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกฯ ดูแลด้านเศรษฐกิจ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลัก อาทิ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรมว.กระทรวงการคลัง โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ยังเป็นรมช. นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที นางอรรชกา ศรีบุญเรือง เป็นรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุวิทย์ เมฆินทรีย์ เป็นรมช.กระทรวงพาณิชย์ ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ โยกจากพาณิชย์ ไปเป็นรมว.กระทรวงเกษตรฯ

เช่นกันนายพลแกนนำคสช.ขยับขึ้นไปคุมระดับนโยบาย อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เหลือเก้าอี้รองนายกฯ ดูแลงานต่างประเทศ โดยขยับนายดอน ปรมัตถ์วินัย จากรัฐมนตรีช่วยขึ้นเป็นว่าการเพื่อทำงานได้เต็มที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ขยับเป็นรองนายกฯ เปิดทางให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ขยับขึ้นเป็นรมว.กระทรวงคมนาคม โดยตั้งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ มาเป็นรมช. รวมถึงพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ก็พ้นจากเก้าอี้รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองนายกฯตำแหน่งเดียว แล้วสลับพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มาเป็นแทน โดยหมุนพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ จากกระทรวงแรงงานไปอยู่กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นรมว.กระทรวงแรงงาน และพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรมว.กระทรวงพลังงาน เป็นต้น

โดยการปรับใหญ่ครั้งนี้เป็นการถอยนายทหารบางส่วนจากงานกระทรวงเศรษฐกิจ แล้วขยับลูกหม้อหรือมือทำงานเดิมขึ้นรับหน้าที่ต่อ แต่ก็ไม่ปล่อยทิ้งเสียทีเดียว โดยยังตั้งนายทหารนั่งในบางกระทรวงโดยอาจเป็นการหมุนเก้าอี้ หรือขยับขึ้นเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงเดิมที่บริหารมา เป็นต้น และในการแต่งตั้งมีรัฐมนตรี 33 ตำแหน่ง ไม่เต็มจำนวน 35 คนอยู่ดี

กระแสปรับครม.กระเพื่อมขึ้นอีกเมื่อนายอุตตม ยื่นลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯมีคำสั่งให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ให้รักษาการแทนตำแหน่งรมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ไปก่อน ท่ามกลางการจับตาว่าใครจะมาเป็นรมว.กระทรวงดิจิทัลฯคนแรก

ควบคู่กับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะรมว.เกษตรและสหกรณ์ร้องขอนายกฯตั้งรมช.มาช่วยงาน 1 คน เพื่อแบ่งเบาภารกิจ ขณะที่เป็นที่จับจ้องว่ารมว.ดิจิทัลฯกระทรวงน้องใหม่จะตั้ง “อุตตม” มาเป็นต่อ หรือตั้งคนในเครื่องแบบมากำกับ กับภารกิจ กํ้ากึ่งของกระทรวงใหม่ ว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจหรือความมั่นคง

จนล่าสุดเมื่อ 2 รัฐมนตรี “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” ต้องพ้นเก้าอี้รมว.ศึกษาธิการ-ยุติธรรมเพื่อไปรับตำแหน่งใหม่องคมนตรี

กระแสปรับครม.ประยุทธ์ 4 จึงดังกระหึ่มขึ้น มีการโยนชื่อ “ว่าที่รัฐมนตรี”ขึ้นมาปรากฏบนหน้าสื่อต่อเนื่อง ควบคู่กับเสียงเรียกร้องให้ยกเครื่องใหม่โดยเฉพาะงานเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องที่ยังไม่เห็นหน้าเห็นหลัง ในภาวะที่ระยะทางตามโรดแมปคสช. เดินหน้าสูก่ ารเลือกตั้งนำประเทศกลบั สู่ภาวะปกติหดสั้นลง เมื่อร่างรธน.ผ่านประชามติจนถึงขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดจะจัดการเลือกตั้งได้ภายในปลายปี 2560ที่จะถึงนี้

หากดูจากสูตรการปรับครม.ของ“บิ๊กตู่” ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะขยับในวงจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยยังคงให้นํ้าหนักด้านความมั่นคง และการประคองสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ ให้เกิดแรงกระเพื่อมน้อยที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม 2559