‘จุดอ่อน’ร่างก.ม.พรรคการเมือง ส่อเปิดช่องซื้อสมาชิก

14 ธ.ค. 2559 | 01:00 น.
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ดำเนินการร่างเสร็จและเผยแพร่ต่อผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไปนั้น

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สะท้อนความเห็นส่วนตัวว่า ต้องรับและปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับพรรคขนาดเล็กอาทิ กฎหมายกำหนดให้หาสมาชิกให้ได้ตามเกณฑ์ รวมถึงการกำหนดให้ชำระค่าสมาชิก เนื่องจากปัจจุบันการหาสมาชิกเข้าพรรคนั้นทำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาแล้วก็จะถูกตัดสิทธิในเรื่องอื่นๆอาทิ ขาดคุณสมบัติการเข้าสมัครรับคัดเลือกในองค์กรอิสระ เป็นต้น

“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการหาสมาชิกเข้าพรรคนั้นทำได้ยาก เนื่องจากที่ผ่านมานักการเมืองถูกใส่ไคร้ ใส่ร้ายป้ายสี แล้ววันนี้จะให้ไปเชิญคนที่สนใจให้เดินเข้ามาเป็นสมาชิก ทั้งยังต้องล้วงกระเป๋าจ่ายค่าสมาชิกด้วยจึงเป็นเรื่องที่ยาก มองว่า การมีส่วนร่วมในทางการเมืองนั้นมิได้หมายความว่า ต้องชำระค่าสมาชิกรายปี แค่ร่วมเดินหาเสียง ร่วมรณรงค์ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง สิ่งที่เราต้องการคือ สมาชิกที่มีคุณภาพมากกว่าแค่ชำระค่าสมาชิกรายปีแล้วหายไป”

 หวั่นก.ม.ใหม่ทำสมาชิกพรรคหด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อหาในแต่ละมาตราของร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองแล้ว มีหลายประเด็นที่หนึ่งในเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ

เริ่มจากเรื่อง คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ที่ต้องยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา 13(3) ที่ถูกมองว่าอาจเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ถือเป็นการเพิ่มเอกสารโดยเปล่าประโยชน์

ขณะที่ มาตรา 15 วรรคท้าย ที่ระบุว่า พรรคการเมืองอาจกำหนดในข้อบังคับให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาทนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นสมาชิกทั่วไป ใครจะยอมจ่าย และเขาอาจจะเปลี่ยนพรรคในอนาคต จึงจะมีแต่นายทุนพรรคเท่านั้นที่จ่ายเงินได้กว่า 2,000 บาท

ส่วนมาตรา 22 วรรค 2 ระบุว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือก สมาชิกวุฒิสภาแล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลไม่ให้สมาชิกหรือผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําการในลักษณะที่อาจทําให้การเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากนายทะเบียนว่าสมาชิกกระทําการอันอาจมีลักษณะตามวรรค 2 ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกยุติการกระทํานั้นโดยพลัน และกําหนดมาตรการหรือวิธีการที่จําเป็นเพื่อมิให้สมาชิกผู้ใดกระทําการอันอาจมีลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแจงให้นายทะเบียนทราบภายในเ 7 วันนับแต่วันที่มีมติ

ในกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามวรรค 3 ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณามีคําสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะและมีคําสั่งห้ามผู้บริหารพรรคการเมือง ซึ่งพ้นจากตําแหน่ง เพราะเหตุดังกล่าวดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 20 ปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคําสั่ง คําสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กรณีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแค่กระทำการอัน "อาจ" ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ก็ไปสั่งให้เขาพ้นจากตำแหน่งแล้ว ทั้งที่ยังไม่ชี้ขาดว่าผิด และเขาไม่มีโอกาสโต้แย้งการแจ้งของนายทะเบียนเลยหรือ ซึ่งในทางปฏิบัติจะบังเกิดผลยาก พรรคการเมืองจะย้อนศรมาที่นายทะเบียนว่า ขอให้เตือนพรรค ตามมาตรานี้ก่อน ซึ่งอาจจะทำให้ออกใบแดง ใบส้ม ไม่ได้ ขณะที่ มาตรา 26 ที่ระบุ ให้นายทะเบียนมีหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกของทุกพรรคการเมือง

ในกรณีที่ปรากฎต่อนายทะเบียนว่า บุคคลใดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทราบและลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิก แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในระยะวเลาที่นายทะเบียนกำหนดนั้น

น่าสนใจว่า นายทะเบียนมีอำนาจในการแจ้งให้พรรคลบชื่อสมาชิกออกจากทั้ง 2 พรรคได้ แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษห้ามไว้ นอกจากนี้ในมาตรา 26 วรรค 3 ที่ระบุว่า เงินทุนประเดิมหรือค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งเรียกเก็บจากสมาชิกซึ่งถูกลบชื่อตามวรรค 2 นั้นให้พรรคการเมืองคืนแก่ผู้นั้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีด้วย ทั้งๆ ที่สมาชิกกระทำผิดเนื่องจากไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่น

 ส่อเปิดช่องซื้อสมาชิกพรรค

นอกจากนี้ในมาตรา 29 ที่ระบุห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ดังนั้น สิทธิหรือประโยชน์ที่จะได้รับในการเป็นสมาชิกอาจต้องไปกำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคหรือไม่ อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นการซื้อสมาชิกทางอ้อม

ขณะที่ในมาตรา 80 (1) ของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เมื่อไม่สามารถดำเนินการได้มาตรา 32 วรรค 1 ที่กำหนดให้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาโดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม้น้อยกว่า 2 หมื่นคนภายใน 4 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน

และในมาตรา 32 วรรค 3 กำหนดว่า หนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ต้องมีรายการตามที่นายทะเบียนกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีแผนผังแสดงที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง และชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของคณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 7 คน

แต่เมื่อมาพลิกดูในหมวดการจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดไว้ในมาตรา 16 ให้มีหัวหน้าพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิก และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9

ส่วนมาตรา 34 ระบุว่า ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน ให้พรรคการเมืองนั้นแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นในจังหวัดนั้น และให้นำมาตรา 33 มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดด้วยโดยอนุโลม

แต่กลับมิได้กำหนดระยะเวลาที่พรรคต้องแต่งตั้งตัวแทนประจำจังหวัดไว้แต่อย่างใด

และเมื่อดูในมาตรา 38 ระบุว่า การประชุมใหญ่ให้จัด ณ สถานที่ที่กำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมร่วมกัน

องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้อง ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คน

แต่มิได้ระบุถึงวิธีการแจ้งให้สมาชิกทราบเพื่อมาประชุม อาจทำให้ไม่ทั่วถึงได้

ส่วนในมาตรา 52 กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองเสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี

งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมืองและส่งให้แก่นายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งบัญชีตามมาตรา 50

เมื่อได้รับงบการเงินตามวรรค 2 แล้วให้นายทะเบียนประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

น่าสนใจว่า สำหรับพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่นั้น หากองค์ประชุมตามมาตรา 38 วรรค 2 ข้างต้นไม่ครบถ้วนภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป จะมีแนวทางปฏิบัติ หรือมีบทลงโทษเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตบางประการที่มีต่อร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับของ กรธ. ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีเวลาแก้ไข ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป ส่วนจะมีการแก้ไขในประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11 - 14 ธันวาคม 2559