กพช.เห็นชอบทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ

08 ธ.ค. 2559 | 07:23 น.
วันนี้ (8 ธันวาคม 2559) ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน และ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาและรับทราบวาระสำคัญด้านพลังงาน ดังนี้

การทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ

ที่ประชุม กพช. เห็นชอบการทบทวนนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ จะจำแนกตามประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีการทบทวนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือในกรณีมีเหตุที่ส่งผลให้ค่าบริการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในกรณีการลงทุนเดิมของผู้รับใบอนุญาต จะยังคงระดับผลตอบแทนการลงทุนตลอดอายุโครงการเดิม เพื่อคงสิทธิหรือภาระผูกพันที่มีอยู่เดิมตามมติ กพช. ที่เห็นชอบไว้ก่อนหน้า แต่กรณีการลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต ผลตอบแทนจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ โดยจะพิจารณาจากต้นทุนเงินทุนส่วนเพิ่มสำหรับโครงการใหม่เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง พร้อมมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ต่อไป

แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและ LNG เพื่อความมั่นคง

•กระทรวงพลังงาน ได้มีการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดยคาดว่า ในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 13.5 ล้านตันต่อปี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และในช่วงปลายแผน คือ ในปี 2579 ความต้องการการนำเข้า LNG จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันต่อปี จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 31 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนโครงสร้างพื้นฐานและการจัดหา LNG ในระยะยาวของประเทศ ให้สอดคล้องและสามารถรองรับความต้องการใช้และการจัดหาที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้

•ที่ประชุม กพช. รับทราบการปรับปรุงประมาณการความต้องการใช้และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติตามแผน Gas Plan 2015 ที่ปรับปรุงใหม่ข้างต้น พร้อมเห็นชอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) ดังนี้

1)โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง [T-2] ที่มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ให้ดำเนินการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG เพื่อให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ความต้องการ LNG ในอนาคต จากเดิม 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 38,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2565

2)โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการจัดหา LNG ในอนาคต รองรับการใช้ก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และเพิ่มการแข่งขันธุรกิจจัดหา LNG ในอนาคต ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 24,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2567 โดยมอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะ

3)โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในประเทศเมียนมา เพื่อทดแทนการผลิตก๊าซฯจากพม่าที่จะหมดไปในอนาคต และกระจายความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซฯ โดยกระจายไปฝั่งตะวันตก เพื่อลดการพึ่งพาการจัดหาจากฝั่งตะวันออก ขนาด 3 ล้านตันต่อปี กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติได้ภายในปี 2570 โดยมอบหมายให้ ปตท. ไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 และนำเสนอผลการศึกษาต่อ กบง. ต่อไป