กรมชลฯเผยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังภาคใต้

06 ธ.ค. 2559 | 09:47 น.
ฝนที่ตกในหลายพื้นที่ภาคใต้เริ่มลดลง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำบางแห่งมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ยังคงเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมภาคใต้เป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 14, 15, 16 และ 17  ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ไปจนถึง จ.นราธิวาส ให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ พร้อมด้วยรถน้ำ สำหรับนำน้ำสะอาดไว้แจกจ่ายประชาชน ในกรณีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ใช้การไม่ได้หรือมีสภาพขุ่นเนื่องจากถูกน้ำท่วม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังได้รับอิทธิพลจากหย่อม ความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สรุปสถานการณ์ได้ดังนี้

จังหวัดชุมพร ปริมาณฝนสะสมสูงสุด 2 วัน(4 – 5 ธ.ค. 59)วัดได้ที่ อ.สวี 206 มิลลิเมตร อ.ทุ่งตะโก 194 มิลลิเมตร อ.ท่าแซะ 222 มิลลิเมตร อ.หลังสวน 111 มิลลิเมตร และอ.เมือง 248 มิลลิเมตร ทำให้ปริมาณน้ำในคลองชุมพรเอ่อล้นตลิ่ง วัดระดับน้ำที่บริเวณบ้านวังไผ่(สถานี X.53A) ได้ 9.41 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.07 เมตร ส่วนระดับน้ำในคลองสวี คลองตะโก และคลองหลังสวน มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมขังที่ลุ่มต่ำ โครงการชลประทานชุมพร ได้ประสานงานกับทางจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนราษฎรเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราษฎรที่อยู่บริเวณลำห้วยและลำคลองต่างๆ

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร ในเขต อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.ดอนสัก อ.วิภาวดี อ.ท่าฉาง อ.ไชยา อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เกาะสมุย อ.เกาะพงัน อ.ดอนสัก อ.นาสาร อ.เวียงสระ อ.พระแสง อ.ชัยบุรี อ.พนม อ.ตาขุน และ อ.ท่าชนะ ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำตาปี ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติใน 2 – 3 วันนี้

จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในบางพื้นที่ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่อำเภอท่าศาลา รวม 22 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 12 เครื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้อำเภอ เทศบาล อบต.ต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จังหวัดตรัง ยังคงมีน้ำท่วมในเขตพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.รัษฎา อ.นาโยง อ.เมือง อ.ห้วยยอด และ อ.วังวิเศษ ระดับน้ำในแม่น้ำตรังที่ไหลผ่าน วัดระดับน้ำบริเวณบ้านท่าประดู่ อ.ห้วยยอด(สถานี X.56) ได้ 16.3 เมตน สูงกว่าตลิ่ง 1.30 เมตร มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่บ้านท่าจีน อ.เมือง(สถานี X.47) วัดระดับได้ 4.35 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.05 เมตร มีพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่ไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ คาดว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มจะลดลงในวันนี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 - 2 วัน โครงการชลประทานตรัง ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

จังหวัดพัทลุง ปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลงแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร บ้านเรือนราษฎรในเขต อ.เมือง อ.เขาชัยสน อ.กงหรา อ.ป่าบอน อ.ปากพะยูน อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน อ.บางแก้ว อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ และ อ.ตะโหมด ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทั้งนี้ ในพื้นที่ตอนบนและพื้นที่ตอนกลาง ระดับน้ำในลำน้ำสายหลักเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา ส่วนในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง โรงพยาบาลพัทลุง บริเวณชุมชนบ้านเขาแดง และในเรือนจำกลาง เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วบางส่วน หากฝนไม่ตกหนักลงมาเพิ่ม จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาบสงขลาจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 - 2 สัปดาห์ โครงการชลประทานพัทลุงติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ พร้อมกับได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

จังหวัดสงขลา เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่จังหวัดสงขลา ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ยังไม่ลดลง บริเวณพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ (อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และอ.สิงหนคร) ยังคงมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำเขตชุมชน แต่ถนนสายหลักและพื้นที่เศรษฐกิจยังไม่ได้รับผลกระทบ และพื้นที่ส่วนใหญ่ได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โครงการชลประทานสงขลา ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา รวม 18 เครื่อง แยกเป็น ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 15 เครื่อง และขนาด 10 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง ส่วนในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว 4 เครื่อง ขนาด 10 นิ้ว 2 เครื่อง และเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง

จังหวัดยะลาและปัตตานี มีแม่น้ำปัตตานีเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านทั้งสองจังหวัด และมีเขื่อนบางลางตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปัตตานี มีความจุ 1,454 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 5.49 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเก็บกัก 460 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีก 999 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีที่ อ.เมืองยะลา(สถานี X.40B) วัดได้ 5.01 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 5.99 เมตร และระดับน้ำที่อ.เมืองปัตตานี(สถานี X.10A) มีระดับน้ำ 0.18 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.97 เมตร