สนช.มีมติรับหลักการวาระแรกในร่าง พ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรม

06 ธ.ค. 2559 | 04:22 น.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระแรกในร่างพระราชบัญญัติสถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 217 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. .... เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน 2559 โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปนั้น

จากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน ได้มีมติรับหลักการวาระแรกในร่าง พ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 217 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 คนเพื่อพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559

จึงเห็นควรจัดตั้ง "สถาบันภูมิราชธรรม" เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการ ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ทุกแขนง พร้อมน้อมนำพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่ทรงมีอยู่เต็มเปี่ยมในความรู้ทุกด้าน และยังได้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกร มาเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้อีกทั้งเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของประชาชาติไทยในอนาคตกาล โดยไม่มีเวลาสิ้นสูญ ทั้งนี้จะเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในปี 2561

โดยสถาบันภูมิราชธรรม เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และอยู่ในอุปถัมภ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กำหนดให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหา และเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญาและบริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของสังคมและประเทศชาติ พร้อมกำหนดรายได้ของสถาบัน ได้แก่ เงินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้เพื่อจัดตั้งกองทุนหรือมอบสมบทภายหลัง และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีเงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบัน เงินกองทุนที่สถาบันจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อาทิ

นายตวง อันทะไชย กล่าวว่า เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพราะเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้จากสถาบันดังกล่าว โดยเฉพาะการเกษตรเพื่อให้ประชาชนต่อยอดไปสู่การพัฒนา สร้างรายได้ให้กับตัวเอง รวมทั้งต้องมีการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ เพื่อต่อยอดพัฒนาวิถีชีวิตของตนเอง และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เสนอแนะให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แม้จะยากแต่ก็ต้องทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน พร้อมทั้งควรให้มีการเรียนรู้จากโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต