คนเทพาเชื่อมั่น “เทพาโมเดล” สู่การพัฒนาท้องถิ่นให้ความสำคัญวิถีชุมชน

29 พ.ย. 2559 | 09:30 น.
นายมะแอ สะอะ หนึ่งในผู้นำชุมชนปัตตานี กล่าวว่า การที่ได้ไปทัศนศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน ในการไปอธิบายสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยและยังเห็นต่างในพื้นที่ ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถตอบคำถามกลุ่มที่เห็นต่างได้ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่จากการไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะแล้ว ได้เห็นความจริงว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีอากาศดี สัตว์เลี้ยงอยู่ได้ ไม่มีมลพิษอะไรเลย พร้อมจะช่วยสนับสนุนโครงการนี้ด้วยใจที่ต้องการให้ประเทศชาติมีความมั่งคงทางพลังงาน ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ โรงไฟฟ้าที่มาเลเซียใหญ่กว่าแม่เมาะ มาเลเซียยังพัฒนาได้ จึงเห็นว่าไทยก็ควรจะพัฒนาได้เช่นกัน

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเทพามีความจำเป็นสำหรับภาคใต้ ซึ่งทุกวันนี้ ต้องรับไฟฟ้าจากส่วนกลางวันละ 200-300 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะช่วงจะนะหยุดซ่อมท่อก๊าซ กฟผ. ต้องส่งไฟฟ้าไปถึง 650 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นกำลังผลิตสำรองถึงร้อยละ 27 ดังนั้น กำลังผลิตสำรองที่กล่าวว่าร้อยละ 15 จึงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าโรงไฟฟ้าจะนะเกิดขัดข้อง การมีโรงไฟฟ้าในพื้้นที่ ชุมชนยังจะได้ประโยชน์จากการเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการเงินกองทุนเอง เช่น การดำเนินงานตามเทพาโมเดล

สิ่งที่ กฟผ. ให้ความสำคัญที่สุด คือ วิถีของชุมชน แม้ว่าในชุมชนจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ กฟผ. ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเคารพในสิทธิของชุมชน และเห็นว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา หลายเรื่องเป็นมุมมองที่ดี ที่ทำให้ กฟผ. มีความรอบคอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินงานผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเกิดโครงการแล้ว กฟผ. ก็ยังจะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ รวมทั้งจะพยายามสร้างความเข้าใจต่อไป

สำหรับเหตุผลที่ควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้เป็นโรงไฟฟ้าหลัก เพราะช่วยเสริมความมั่นคงการใช้พลังงานทดแทน และช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูก เพราะหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถสร้างได้ จะมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ทำให้ค่าไฟมีราคาสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง