ศก.ไทยเดือน ต.ค.59 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ

28 พ.ย. 2559 | 07:46 น.
เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งรองรับความผันผวนจากภายในและภายนอกประเทศได้

นายพรชัย  ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2559 ว่า  เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งรองรับความผันผวนจากภายในและภายนอกประเทศได้  โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัว โดยปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.3 จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนตุลาคม 2559 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 435.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายปีปัจจุบันที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิตยังคงมีสัญญานที่ดี สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.9 และขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยเป็นผลจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และกลุ่มไม้ผล ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.2 เนื่องจากราคาในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ราคาหดตัวเนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว รวมถึงราคามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ราคายาง และปาล์มน้ำมันยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ระดับ 86.5 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ทั้งจากผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และ 0.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 4.5  แสนคน นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.8 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ 180.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.2 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้