รัฐหว่านเงินกระตุ้นศก. ไร้ขีดจำกัดด้านการคลัง?

29 พ.ย. 2559 | 07:00 น.
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช. ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพีไตรมาส 3 โต 3.2% ขณะที่ 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.)โต3.3% และยังประเมินว่าจีดีพีปีนี้และปีหน้าจะโตเฉลี่ย 3.2% และกรอบ 3.0-4.0% ตามลำดับซึ่งอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้วที่โตเพียง 2.8% การที่เศรษฐกิจไทยเดินมาถึงวันนี้สามารถขยายได้ในอัตรา 3.3% ท่ามกลางภาวะผกผันของปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและนอกคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลโดยสมคิดจาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีทยอยปล่อยออกมาในช่วงปีเศษคงไม่ผิดนัก

 หว่านเม็ดเงินแล้วร่วมล้านล้าน

ทั้งนี้จากการรวบรวมของ“ฐานเศรษฐกิจ”ช่วงปีเศษที่ผ่านมารัฐได้ประกาศมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆ อย่างน้อย 15โครงการในกรอบวงเงินรวมกว่า 8.09 แสนล้านบาท (อิงข้อมูลสศช.ระบุก.ย.58 - เม.ย.59 มี11โครงการวงเงิน 6.71 แสนล้านบาทและเพิ่มเติมถึงปัจจุบันอีก 4 โครงการ) ไม่นับมาตรการทางภาษีที่รัฐหว่านเงินรวมๆไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

 จุดเสี่ยงโค้งท้าย

แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นชุดๆแต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่โดยเฉพาะช่วงท้ายปีที่การบริโภคชะลอตัวจากหลายปัจจัย อาทิ ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ฯลฯ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญที่สำคัญการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส3ที่ยังหดตัว 0.5% เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐหดถึง 5.8% การบริโภคครัวเรือนฟื้นยังอ่อนๆ จากที่ขยายตัว 3.8% ในไตรมาส 2 มาอยู่ที่ 3.5% ในไตรมาส 3 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี

ดังนั้นการที่เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.2-3.3% ได้ตามเป้าหมายนั่นหมายเศรษฐกิจไตรมาส4ต้องโตไม่ต่ำกว่า 3.1% (คำนวณอิงฐานจีดีพี 9 เดือนโต 3.3%) และยังเสี่ยงว่าแรงขับเคลื่อนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตไม่ถึงที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ “สมคิด “ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4%

 มาตรการกระตุ้นขาดไม่ได้?

หากย้อนกลับไปดูในช่วงครึ่งหลังปีนี้มามาตรการที่รัฐทยอยออกมามาล้วนเน้นกระตุ้นการบริโภคกล่มฐานรากเป็นสำคัญ อาทิ มาตรการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านที่รัฐอัดงบ 1.87 หมื่นล้านบาทให้หมู่บ้านละ 2.5 แสนบาทการเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากผ่านมาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มเติมตันละ 1.05 หมื่นบาทพยุงราคาข้าวหอมปทุมและข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 1.13 หมื่นบาท และ 1.3 หมื่นบาท ตามลำดับ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนไฟเขียวมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนอกภาคเกษตรจำนวน 5.4 ล้านคนจำนวนนี้สัดส่วนกว่า 32% หรือราว 2.66 ล้านคนมีอาชีพรับจ้างโดยให้รายละ 1,500 บาทและ 3,000 บาทเพิ่มเติมจากครม.เมื่อเดือนกันยายนที่อนุมัติเงินให้เปล่าแก่เกษตรรายย่อยในลักษณะเดียวกันจำนวน 2.9 ล้านคนหรือรวมสิ้น 8.3 ล้านคนรัฐใช้งบรวม 1.93 หมื่นล้านบาท (12,750 บวก 6,540)

นอกจากนี้ภาครัฐยังเตรียมออกแพ็กเกจของขวัญเดือนธันวาคมนี้ อาทิมาตรการภาษี “กิน-ช็อป-เที่ยว”โดยหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทโดยจะขยายเวลาให้นานขึ้นกว่าปีที่แล้วที่กำหนดเพียง 7 วัน และมีแนวโน้มที่จะต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี “ท่องเที่ยว” ที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นี้ มาตรการลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มนํ้าหอม-เครื่องสำอาง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวซึ่งจะมีผลเดือนกุมภาพันธ์ 2560

คุ้มค่าหรือไม่?

คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่หลายคนอยากได้คำตอบ !!! มุมมองของ อธิภัทรมุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ที่ผ่านมารัฐใช้เงินกระตุ้นผ่านการบริโภคเพราะเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีกว่า 50% จึงมีประสิทธิผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็ว

มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยให้รายละ1,500บาท/ 3,000 บาท 5.4 ล้านคน ต้องถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมควบคู่กับเป้าหมายที่ได้ก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะงบประมาณที่ใช้ 1.27 หมื่นล้านบาท เท่ากับ 0.1% ของจีดีพีและตามหลักการให้เงินกับผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มจะนำเงินไปใช้จ่ายในการบริโภคมากกว่ากลุ่มที่เป็นรายได้ปานกลาง

อย่างไรก็ดีรัฐจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงเพราะรัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนช่วงสั้นๆ ( 15ก.ค.59 - 15ส.ค.59) และกรอกเพียงแต่ 1 หน้ากระดาษรายได้และทรัพย์สินที่กรอกกันได้มีการตรวจสอบถี่ถ้วนแค่ไหน อีกทั้งบทบาทภาครัฐในการแจกจ่ายเงินกับประชาชนในช่วงนี้เหมาะสมหรือไม่? เพราะเงินที่ใช้คือเงินภาษี มีต้นทุนค่าเสียโอกาสโดยปกติการจะให้เงินแบบจ่ายเปล่าจะเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง หรือมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ตัวอย่างที่เห็นคือช่วงเกิดแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลในหลายๆประเทศเช่น สหรัฐฯสิงคโปร์ หรือ ไทยเองก็แจกเงินให้ประชาชนเพื่อหวังกระตุ้นการเศรษฐกิจ

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันมาตรการระยะสั้นการให้เงินแบบให้เปล่าคงไม่เหมาะสมมากนักเศรษฐกิจไทยอ่อนแอจริงแต่มีบางภาคส่วนเช่นการลงทุนภาคเอกชนที่ต้องการแรงกระตุ้นจากรัฐมากกว่าขึ้นรัฐควรทบททวนว่าการลดหย่อนภาษีให้ได้ 2 เท่าเพื่อจูงใจให้เกิดการนำเข้าสินค้าทุน /ตั้งโรงงานลงทุนภายใน 2 ปีทำไมไม่ได้รับการตอบรับจะมีวิธีอื่นที่ได้ผลมากกว่าการให้เงินภาษีหรือไม่

“ที่ผ่านมารัฐได้ใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนเยอะไปช็อปช่วยชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว,ช่วงสงกรานต์, กการลดหย่อนภาษีใช้จ่ายในการท่องเที่ยวโรงแรม การปรับลดโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่จะมีผลในปี 2560 ซึ่งผลโดยตรงจำกัดเพียงไม่กี่ธุรกิจ อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้นบ้าง แต่สิ่งที่ควรเน้นคือการลงทุนภาคเอกชน ที่ซบเซามาเป็นระยะเวลายาว อย่างปีที่แล้วติดลบ 2% ปีนี้โตเพียง1.2% เราจึงอยากเห็นการกระตุ้นการลงทุนที่เป็นรูปธรรม” เขากล่าวและว่า
ในระยะยาว หากรัฐมีความจริงใจในการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจริงก็ควรจัดโครงการการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ หนึ่งในโครงการตัวอย่างคือ Negative Income Tax (เงินช่วยคนทำงาน)ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ที่เคยเสนอในปี 2557 เพราะเป็นการจูงใจกระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น ผ่านการให้เงินโอน โดยเงินโอนจะเพิ่มก็ต่อเมื่อชั่วโมงการทำงานเพิ่ม ซึ่งหากรัฐมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยที่ชัดเจน การช่วยอย่างเป็นระบบน่าจะมีความเหมาะสม

ด้านกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสศค. กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองว่าการช่วยเหลือกลุ่มฐานราก เป็นความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ เพราะวงเงิน 1.27 หมื่นล้านบาท มีผลต่อจีดีพีไม่ถึง 0.1% เท่านั้นแต่ควรมองว่าเป็นกลุ่มที่ยังขาด มีรายได้ต่อเดือนแค่ 2,500 บาท เราจึงควรยื่นมือช่วย และสิ่งที่รัฐเน้นขณะนี้ก็คือการเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน แทนการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก และไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเดียว ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรัฐก็เข้าไปดูแลค่อนข้างมาก

แม้ความเห็นระหว่างนักวิชาการกับผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐต่างกัน แต่บทสรุปที่จริงแท้สำหรับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันคือยังขาดมาตรการกระตุ้นไม่ได้ซึ่งชวนให้คิดว่ารัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นอย่างไม่มีขีดจำกัดด้านการคลังได้หรือไม่ ?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559