สกว.ชี้ยุบ‘ร.ร.ขนาดเล็ก’ไม่ใช่ทางออก

25 พ.ย. 2559 | 09:01 น.
ผลวิจัยการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในภาคอีสาน สกว. พบการยุบหรือควบรวมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สำเร็จในทุกกรณี ควรฟังความเห็นผู้ปกครองและคนในชุมชน ชี้ตัวชี้วัดออกแบบจากส่วนกลางมุ่งผลสัมฤทธิ์จากคะแนน O-Net ไม่ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชน

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีการนำเสนอความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน โดยวางแผนในปี 2564 จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้จำนวน 7,000 แห่ง ส่งผลให้ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ 5,000 - 6,000 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีพอใจกับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ แต่อยากให้เร่งดำเนินการให้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้นั้น

ผลการวิจัยเรื่อง “กรณีศึกษารูปแบบความสำเร็จการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(2557)”โดย ดร.จันทร์จิรา จูมพลหล้า ดร.พงษ์นิมิตร พงษ์ภิญโญ และ อ.พรทิพา หล้าศักดิ์ แห่งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนขนาดเล็ก 80 แห่ง เกี่ยวกับตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวม และคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงศึกษาแนวทางบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ 4 แห่งพบว่าแนวคิดปฏิรูปโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการยุบหรือควบรวมโรงเรียนไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จในทุกกรณี ควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้ปกครองและคนในชุมชน

นอกจากนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ควรหาแนวทางยกระดับคุณภาพของโรงเรียนร่วมกัน ตั้งแต่การวางแผน การพัฒนาหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสื่อการสอน และการหางบประมาณในด้านตัวชี้วัดในการยุบ ควบรวมและคงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก พบว่าชุมชนมีความพึงพอใจต่อโรงเรียนขนาดเล็กในด้านการเรียนการสอน ทั้งด้านวิชาการ การพัฒนาทักษะ กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงความสะดวกในการเดินทาง

“ตัวชี้วัดที่ถูกออกแบบโดยหน่วยงานส่วนกลางเพื่อยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหา เพราะมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของนักเรียนผ่านคะแนนข้อสอบ O-Net ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อความรู้ของเด็กเพียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตของชุมชน นอกจากนี้การประเมินคุณภาพด้วยมาตรฐานตัวชี้วัดจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่เหมาะสมต่อบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กมีศักยภาพไม่เท่ากับโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ที่มีความพร้อมหลายด้าน รวมทั้งการประเมินโดยใช้เอกสารไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน”

ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก คือ การรับฟังความเห็นของผู้ปกครอง และชุมชนว่าต้องการยุบหรือควบรวมโรงเรียนหรือไม่ และอย่างไร เพราะหากภาครัฐทำไปโดยไม่ถามความเห็นจากคนในชุมชน แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ อาจก่อปัญหาแก่คนในชุมชนมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมแต่ไม่สามารถทำให้เด็กมีคุณภาพ (ดี เก่ง และมีความสุข) ได้ ชุมชนก็พร้อมจะยุบและควบรวมโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป