วิบากกรรม‘พระธัมมชโย’3 หมายจับจ่อคอหอย

30 พ.ย. 2559 | 05:00 น.
คล้อยหลังวันเดียวที่“บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาเปิดประเด็นรออัยการสั่งคดีก่อนเมื่อต้นสัปดาห์ จนกระแสกระหึ่มเมืองนั้น กลางสัปดาห์ทีมโฆษกสำนักอัยการสูงสุดก็ตั้งโต๊ะแถลงทันทีว่า คณะทำงานอัยการมีความเห็นสั่งคดีแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ให้สั่งฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนางสาวศรัญญา หมานหมัด และนางทองพิน กันล้อม ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน โดยนัดนำตัว 3 ผู้ต้องหาขึ้นฟ้องศาลวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

ส่วนพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ยังเข้าจับกุมตัวไม่ได้ และนางสาวศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 ที่หลบหนีไปต่างประเทศแล้วนั้น คณะทำงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ฐานความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร
"ให้ดีเอสไอจับกุมผู้ต้องหาที่ 2 และผู้ต้องหาที่ 5 มาส่งอัยการ เพื่อดำเนินการภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำผิด คือ มกราคม 2552"

เท่ากับว่าทางคณะทำงานอัยการสั่งคดีโดยให้ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้เร็วขึ้นถึงหนึ่งสัปดาห์ จากเดิมที่อัยการนัดจะสั่งคดีนี้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ และยังเป็นการตีลูกกลับมาให้รัฐบาลและพนักงานสอบสวน คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ต้องเดินหน้าการจับกุมพระธัมมชโยอีกครั้ง

เนื่องจาก พล.อ.ไพบูลย์ย้ำเองที่ตั้งเงื่อนไขให้อัยการสั่งคดีก่อน โดยอ้างว่าแม้ดีเอสไอจะนำตัวพระธัมมชโยมาส่งฟ้องได้ แต่ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องก็มีผลเท่ากัน และว่าหากอัยการสั่งฟ้องแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่จับกุม

ท่ามกลางการจับตาของกระแสสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาดีเอสไอเคยขอออกหมายจับพระธัมมชโยแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เมื่อสรุปสำนวนแจ้งข้อหานายศุภชัย-พระธัมมชโยกับพวก ต่ออัยการ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวพระธัมมชโยได้ โดยมีการยื้อคดีมาเป็นลำดับ ทั้งการไม่ยอมเดินทางไปให้ปากคำตามหมายเรียก 3 ครั้งซ้อน โดยอ้างอาการอาพาธ ต่อรองจะให้พนักงานสอบสวนต้องเข้าไปสอบในวัด ปฏิเสธการตรวจของทีมแพทย์จากภายนอก

แม้ถูกออกหมายจับแล้ว พระธัมมชโยก็กบดานอยู่ในวัดพระธรรมกาย ท่ามกลางสานุศิษย์ที่ระดมมาเป็นกำแพงมนุษย์ ขวางการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่ต้องล่าถอยออกมาในที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง
โดยวัดพระธรรมกายและสานุศิษย์อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ขณะที่ยิ่งปล่อยให้เนิ่นนานสังคมยิ่งกังขาถึงการบังคับใช้กฎหมาย ว่าเหตุใดกลไกราชการจึงไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

เป็นอีกคดีที่ยังคาราคาซัง และทำให้พระธัมมชโยต้องเก็บตัวหายหน้าจากสังคมและแวดวงศิษย์ธรรมกาย ต่อเนื่องจากที่ในรอบปี 2557-2558 ก็วุ่นกับการสะสางปัญหารับเช็คบริจาคจากสหกรณ์ฯคลองจั่น ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.736/2557 สหกรณ์ฯยื่นฟ้องนายศุภชัย เพื่อติดตามเรียกทรัพย์คืน ทุนทรัพย์ 818 ล้านบาท มีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ที่ต่อมาคณะศิษย์ระดมเงิน 684 ล้านบาท เพื่อเยียวยาสหกรณ์ฯและเจรจาไกล่เกลี่ยถอนฟ้องจำเลย 2 และ 3 มาแล้ว

ในคดีฟอกเงินเมื่อคณะทำงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องแล้วนี้ สังคมจึงจับตาอีกครั้งว่า ดีเอสไอ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะเปิดปฏิบัติการ "บุกจับ" เพื่อควบคุมตัวพระธัมมชโย ส่งฟ้องศาลได้ทันนัดสั่งฟ้อง 3 ผู้ต้องหาในวันที่พุธที่ 30 พฤศจิกายน นี้ได้หรือไม่

ไม่เพียงดีเอสไอเท่านั้นที่ต้องการตัวพระธัมมชโยมาส่งฟ้อง ในคดีฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังมีคดีที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน และยื่นศาลขอออกหมายจับพระธัมมชโย ในคดีสาขาวัดพระธรรมกายบุกรุกที่ป่าอีก 2 คดี คือ คดีวัดป่าหิมวันต์ ต.ร่องจิก อ.ภูเรือ จังหวัดเลย รุกที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ และคดีศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิล์ดพีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ที่พื้นที่บ้านหนองจอก หมู่ 6 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ย้ำว่า ดีเอสไอได้ประเมินสถานการณ์วัดพระธรรมกายต่อเนื่อง ได้ประสานทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเอง เพื่อสนธิกำลังเข้าจับกุม ตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้หมดแล้ว แต่รอหนังสือแจ้งสั่งคดีจากอัยการอย่างเป็นทางการก่อน

ด้านตำรวจก็พยายามเปิดทางเลือกเพื่อเลี่ยงสถานการณ์เผชิญหน้า โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวว่า ตำรวจรับผิดชอบแต่คดีรุกป่า ที่ขณะนี้สำนวนอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ยังไม่ถึงอัยการ ส่วนการจะเข้าจับกุมนั้นตั้งข้อสังเกตว่า ต้องมั่นใจว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในวัดพระธรรมกายจริง จึงจะยื่นขอหมายค้นต่อศาลได้ ซึ่งได้มอบตำรวจสันติบาลสืบสวนยืนยันเท็จจริงอยู่ และได้ประสานเจ้าคณะจังหวัดและคนใกล้ชัดพระธัมมชโย ให้เข้ามอบตัวภายในสิ้นเดือนนี้ พร้อมกันนี้ตำรวจยังเปิดช่องว่า หากจะให้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในวัดก็สามารถประสานมาได้ และพร้อมให้ประกันตัวหากไม่มีพฤติกรรมทำลายพยานหลักฐาน เพื่อไม่ให้พุทธศาสนาเสียหาย

นับถอยหลัง 7 วันสู่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เป็นกรอบเวลาขั้นที่ 1 ตามกำหนดส่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินสหกรณ์ฯคลองจั่น ซึ่งสำหรับกรณีการจับกุมตัว "พระธัมมชโย"นั้น คณะทำงานอัยการยังเปิดช่องให้พนักงานสอบสวน โดยแยกเป็นมติ "ควรสั่งฟ้อง" โดยระบุหากได้ตัวแล้วยังต้องชั่งน้ำหนักอีกครั้งว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ เป็นการขยายสู่กรอบ 2 "ให้ดีเอสไอ.จับกุมตัวเพื่อดำเนินการภายในอายุความ 15 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2552"

นั่นคือ คดีนี้มีอายุความถึงมกราคม 2567 หรืออีกกว่า 8 ปี เป็นเส้นทางวิบากที่ยังทอดไปอีกยาว สำหรับพระธัมมชโยในคดีฟอกเงินทุจริตสหกรณ์ฯคลองจั่น ไม่รวมคดีรุกป่าที่ถูกออกหมายจับอีก 2 คดีดังกล่าว ที่คดีเพิ่งเริ่มต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559