ศศป.น้อมนำพระบรมราโชวาท ชูธงสร้างความมั่นคงอาชีพศิลปหัตถกรรม

24 พ.ย. 2559 | 06:00 น.
"...การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้น ต่อไปได้โดยแน่นอน..."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2517

ศศป.น้อมนำพระบรมราโชวาทฯเป็นแนวทางการดำเนินงานสืบสานงานศิลปหัตถกรรมของไทย เดินหน้าสนับสนุนทุกรูปแบบทั้งการผลิต การออกแบบ รวมไปถึงช่องทางจำหน่ายโดยการเปิดร้าน SACICT CONCEPT ที่อำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) SACICT หรือ ศศป. เผยว่า ศศป.ได้น้อมนำพระบรมราโชวาท มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานสืบสานศิลปหัตถกรรมของไทยให้ยืนนานต่อไป ด้วยการสนับสนุนชาวบ้านให้สามารถประกอบอาชีพจากภูมิปัญญาและวัตถุพื้นถิ่นที่เป็นพื้นฐาน เพิ่มเติมจากงานออกแบบที่ทางศศป.ได้เข้าช่วยเหลือก่อนหน้านี้ และเพื่อให้ชาวบ้านได้สามารถมีอาชีพที่ยั่งยืน จึงได้ทำ SACICT CONCEPT เป็นร้านที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โครงการไทยนวัตศิลป์ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืน (SUSTAINABLE CRAFTS)

โครงการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Innovative Craft Award) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม (GREEN CRAFTS) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัยจากวิถีชนเผ่า (Global Ethnics) และกลุ่มสมาชิก SACICT หรือชุมชนหัตถกรรม เช่น งานดุนโลหะ จากเชียงใหม่ กลุ่มจักสานใบกระพ้อบ้านอ้ายเลา จากนครศรีธรรมราช กลุ่มทอผ้าไหมหนองหญ้าปล้อง จากขอนแก่น หรือ กลุ่มเบญจรงค์ดอนไก่ดี จากสมุทรสงคราม และอีกมากมายในทุกภูมิภาคของไทย

[caption id="attachment_115273" align="aligncenter" width="503"] อัมพวัน พิชาลัย อัมพวัน พิชาลัย[/caption]

"ถ้าจะกล่าวถึงเสน่ห์หรือความโดดเด่นของชิ้นงานแต่ละโครงการนั้นก็คือการเชื่อมโยงงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย จากชิ้นงานดั้งเดิมในวิถีท้องถิ่นนั้นๆ สู่งานศิลปหัตถกรรมไทยร่วมสมัย สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืนหลายร้อยชิ้น ส่วนใหญ่เป็นประเภทของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น เป็นต้น ขณะที่เป้าหมายของการเปิดร้าน SACICT CONCEPT เพื่อตอบตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อให้สามารถเข้าถึงสินค้า ชุมชนจะได้มีรายได้ ขณะเดียวกันผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานก็มีกำลังใจ นอกจากนี้ยังจะทำให้งานฝีมือพื้นบ้านของไทยได้รับการสืบสานต่อไปได้อีกด้วย"

นางอัมพวันกล่าวต่อถึงด้านการตลาด SACICT ยังวางแผนในการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของ SACICT เพื่อดูผลตอบรับก่อน หลังจากนั้นหากผลิตภัณฑ์ตัวไหน มีการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค จะพัฒนาไปสู่ช่องทางอื่นๆต่อไป อาทิ การวางจำหน่ายที่ร้าน SACICT สาขา ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูเก็ต หรือเข้าร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ SACICT เป็นพันธมิตรเช่น สยามพิวรรธน์ (ที่สยามดิสคัฟเวอรี่) เป็นต้น สำหรับร้าน SACICT CONCEPT เปิดให้บริการประชาชนทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ ณ อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1289 หรือ www.sacict.or.th และ facebook.com/sacict

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559