เอกซเรย์คุณสมบัติ 3 องค์กรอิสระเสี่ยงพ้นเก้าอี้ 13 ตำแหน่ง

24 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
เกิดแรงกระเพื่อมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ภายใต้การนำของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประกาศยึดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระใหม่ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ซึ่งถูกมองว่าเท่ากับ “เซตซีโร่” โละทิ้งกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันกันใหม่

หนีไม่พ้นใน 3 องค์กรอิสระที่จะประสบปัญหา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เข้าข่ายอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตามมา หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีผลบังคับใช้

 4 ตุลาการศาลรธน. เสี่ยงพ้นเก้าอี้

ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาเป็น “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ไว้ใน มาตรา (ม.) 200 และม.202 ไว้อย่างเข้มข้น เมื่อลองนำคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน จำนวน 9 คน ซึ่งจะครบวาระในปี 2560 นั้น มาพิจารณามีความน่าสนใจไม่น้อย

จากข้อมูลที่ปรากฏเบื้องต้นมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 รายได้รับการคัดเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คือ นายนุรักษ์ มาประณีตปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายบุญส่ง กุลบุปผา และ3.นายชัช ชลวร เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน

โฟกัสไปที่ 2 รายแรก พบว่า ทั้งคู่เคยดำรงตำแหน่ง “ผู้พิพากษาศาลฎีกา”ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 200 (1) ระบุให้ ต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งตำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญใหม่ได้เปิดช่องไว้ว่า ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (1) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีก็ได้ จึงไม่น่ามีปัญหา

มาที่ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรีเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด สอดรับกับกฎหมายใหม่ มาตรา 200 (2) ที่ระบุไว้ว่า ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน รวมถึงนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน จึงไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

ส่วนนายจรัญ ภักดีธนากุลผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ระบุชัดว่า เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่น นายจรัญ จึงต้องไปลุ้นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาที่จะวินิจฉัยต่อไป

ขณะที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปีขณะเข้ารับการสรรหาอาจมีลักษณะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ตามร่างรัฐธรรมใหม่ มาตรา 200 (3) และ (4)

ส่วนนายปัญญา อุดชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์นั้น พบว่า ไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จึงขัดมาตรา200 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่อพ้นเก้าอี้ไปอีกราย

อย่างไรก็ดี ใน มาตรา 200 วรรคท้ายบัญญัติการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้นับถึงวันที่ได้รับคัดเลือก หรือวันสมัครเข้ารับการสรรหาและในกรณีที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงก็ได้แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีไม่ได้

ดังนั้น หากคณะกรรมการสรรหาประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลง จะส่งผลให้นายนครินทร์ และนายทวีเกียรติ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ 2554 อาจจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้

ทั้งนี้ สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน นายนุรักษ์ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ นายชัช นายบุญส่งและนายอุดมศักดิ์ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่28 พฤษภาคม 2551 จะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ และด้วยระยะเวลาการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนู(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะยกร่างแล้วเสร็จจนประกาศใช้อาจจะเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนหมดวาระลง การดำเนินการสรรหาก็จะเป็นไปตามคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่

 ป.ป.ช.ลุ้นเกือบยกแผง

มาลุ้นกันต่อที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)งานนี้เข้าข่ายอาจลุ้นยกแผงกันเลยทีเดียว นับตั้งแต่หัวขบวน“บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ”ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในปี 2557 ซึ่งตามมาตรา216 (3) ประกอบ มาตรา(4) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้ต้องพ้นจากข้าราชการการเมืองมาแล้ว10 ปี แต่ พล.ต.อ.วัชรพล พ้นไม่ถึง 10 ปี

R38321202 ตามด้วย นายณรงค์ รัฐอมฤตซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ในปี 2552 ซึ่งไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานและไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับตำแหน่งอธิบดีได้แม้จะได้ขยับเป็นเลขาธิการป.ป.ช. เทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการ (ซี 11) ในปี 2555 แต่เมื่อนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าการสรรหาเป็น ป.ป.ช. ในปี 2556 ยังไม่ถึง 5 ปี จึงส่อว่า ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตามมาตรา 232 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เช่นเดียวกับนายปรีชา เลิศกมลมาศ ลูกหม้อ ป.ป.ช. เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการป.ป.ช. มาตั้งแต่ปี 2547-2552 และขึ้นเป็นเลขาธิการป.ป.ช.ปี 2552 เทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการแต่เมื่อนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งจนเข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 ยังไม่ครบ5 ปี จึงขาดคุณสมบัติตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่
รวมถึงนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในปี 2557 ที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน

เลยไปถึง พล.ต.อ.สถาพร หลาวทองเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ปี 2548 ก่อนย้ายมาเป็นจเรตำรวจ เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2555แม้ว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาตินั้นจะเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดี แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ไม่ครบ 5 ปี

เช่นเดียวกันกับกรณีของพล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554- 30 กันยายน 2555 นอกจากจะต้องตีความตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม เทียบเท่าอธิบดีแล้ว เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจะเข้าเงื่อนไขคุณสมบัติ ป.ป.ช.หรือไม่ด้วย

ขณะที่นางสาวสุภา ปิยะจิตติจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ปี 2549 ก่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ปี 2552 กระทั่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเทียบเท่าอธิบดี (ระดับซี 10) วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และได้รับการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ป.ป.ช.แทนนายใจเด็ด พรไชยา ซึ่งอายุครบวาระ 70 ปี เมื่อปี 2557 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 232 (2) กำหนดให้รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็น ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

 กกต.ลุ้น 2 “ประวิช-สมชัย”

ด้าน 5 เสือ กกต. นั้น เริ่มที่นายประวิชรัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างวันที่26 ตุลาคม 2554 - 24 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตาม มาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ระหว่างปี 2548-2549 ซึ่งเมื่อนับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.เมื่อเดือนกันยายน 2556 เท่ากับพ้นจากเป็นข้าราชการการเมืองมาเพียง 7 ปีเข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา216 (3) ประกอบมาตรา202 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องพ้นสภาพ 10 ปี

ขณะที่นายสมชัยศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งเคยดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2548 ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า มีประสบการณ์เคยทำงานในองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างองค์กรกลางมาเป็นเวลามากกว่า 24 ปี เป็นคุณสมบัติตาม มาตรา222 วรรคท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดว่า ต้องเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนั้น คงต้องให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยว่า เข้าข่ายหลักเกณฑ์การมีคุณสมบัติที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกกต.หรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ดี ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 273 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญดังกล่าว ในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีพ.ร.ป.ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพ.ร.ป.รธน.หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559