สศช.คาดจีดีพีปีนี้โต 3.2% ปี 60 โตต่อเนื่อง 3.0-4.0%

21 พ.ย. 2559 | 06:08 น.
นายปรเมธี วิมลศิร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2560 จะเติบโตราว 3.0-4.0% ขณะที่จีดีพีปี  2559 น่าจะเติบโตราว 3.2%  จากเดิมคาดว่าจะเติบโตในช่วง 3.0-3.5% หรือเฉลี่ยที่ 3.3%

การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2560 มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.แนวโน้มการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆของภาคการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น 2.แนวโน้มการฟื้นตัวและการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน 3.การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และ 4.แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มาจากรายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 20 โครงการ วงเงิน 1.41 ล้านล้านบาท เริ่มก่อสร้างสร้าง 4 โครงการ วงเงิน 45 พันล้านบาท กำลังประกวดราคา 9 โครงการ วงเงิน 487 พันล้านบาท คืบหน้าชัดเจนในปี 2559 ซึ่งการดำเนินการและเบิกจ่ายจะเร่งตัวขึ้นในปี 2560 ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ.2560-2564 วงเงิน 7.13 แสนล้านบาท (เป็นโครงการเร่งด่วนในปี 2560 รวมท 48 โครงการ วงเงิน 6,992.7 ล้านบาท)

รวมทั้งมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งแม้จะคาดว่าไตรมาส 4/2559 การท่องเที่ยวอาจจะชะลอตัวในระยะสั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยงกังวลเรื่องการปฏิบัติตน และกิจกรรมช่วงไว้ทุกข์ และผู้ประกอบการกังวลเรื่องปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ทั้งนี้คาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและขยายตัวในเกณฑ์ดีในปี 2560 โดยประเมินว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 35.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% ชะลอลงจากฐานที่สูงในปี 2559 โดยในแง่ของรายได้การท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2560 จะอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1.76 ล้านล้านบาท

ส่วนข้อจำกัดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ซึ่งต้องติดตามทิศทางและแนวนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง ตลอดจนผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญในอิตาลี การเลือกตั้งในฝรั่งเศส และเยอรมนี, การใช้อำนาจมาตรา 50 ของสหราชอาณาจักรในเดือน มี.ค.60 ภายหลังจากการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และแนวโน้มผลการเจรจา รวมทั้งปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน