แนะรัฐปักธงส่งเสริมพัฒนาวิศวกรรมดนตรี สู่ Thailand 4.0

19 พ.ย. 2559 | 00:26 น.
โลกและชีวิตยุคดิจิตอล ดนตรีและสื่อบันเทิงได้กลายเป็นกลยุทธ์ของหลายประเทศไปแล้ว  ขณะที่บ้านเรายังไม่เร่งส่งเสริมผลักดันเท่าที่ควร บนเวทีเสวนาเรื่อง “Thailand 4.0 ดนตรี วิศวกรรมกับการพัฒนาประเทศ “ ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชน ณ ไบเทคบางนา จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หากนับเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ดนตรี (Music) ภาพยนตร์ (Film) แอนิเมชั่น (Animation) การแพร่ภาพและกระจายเสียง (Broadcasting) เกม (Games) และสิ่งพิมพ์ ยังไม่รวมมูลค่าที่ผลพึงได้จากโอกาสและภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นหรือความนิยมต่อประเทศ

DSC_2654 ผศ.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “เกาหลี ญี่ปุ่นนำดนตรีมาพัฒนาประเทศสำเร็จเพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญของ Soft Power และสนับสนุนจริงจังทำให้สื่อวัฒนธรรมและบันเทิงจากดนตรีภาพยนตร์นำพาผลิตภัณฑ์ของประเทศเกาหลีครองตลาดในโลกไปด้วย  ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเพราะเราเป็นประเทศทีมีศิลปะและประเพณีวัฒนธรรมหล่อหลอมมายาวนาน แต่เราขาดการส่งเสริมและถนัดซื้อเทคโนโลยีเขามามากจน เราผลิตเองไม่เป็น  สจล.ได้ริเริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ( Music Engineering and Multimedia) ครั้งแรกในอาเซียนและประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน  มุ่งพัฒนาบุคคลากรนักศึกษาตอนนี้กำลังเรียนอยู่ 3 ชั้นปี รวมกว่า 90 คน  ในขณะนี้จะเปิดรับสมัคร นักศึกษารุ่นใหม่ปีการศึกษา 2017 อีกจำนวน 30 คน พัฒนาธุรกิจนี้ให้มีมาตรฐานในระดับสากล พัฒนาศักยภาพวิศวกรด้านนี้ให้มีความเชี่ยวชาญทั้งเทคโนโลยี วิทยาการ ทักษะปฏิบัติ ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรีและการสื่อสารบันเทิงของไทยให้ก้าวหน้ายั่งยืน”

นายเจษฎา พัฒนถาบุตร ผู้คร่ำหวอดในวงการระบบเสียงและการแสดง กล่าวว่า “การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ให้พ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง โดยจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์นั้น ในด้านอุตสาหกรรมดนตรีได้เริ่มเป็นจริงแล้วจากการเปิดการเรียนการสอนภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ดนตรีและสื่อผสม ที่ คณะวิศวลาดกระบัง นับเป็นการตอบโจทย์ 4.0 การใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าถูกต้องที่สุด ถ้าเราสามารถฝึกบุคคลากรไทยให้สามารถใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า คิดค้นพัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เป็นงานใหม่ๆได้หลายๆแบบ ถ่ายทอดสู่มวลชนได้  โปรดักส์ก็จะตอบโจทย์ ในด้านวิชาชีพ เครื่องมืออุปกรณ์ในสายงานดนตรีและสื่อสารบันเทิงบ้านเรามีเยอะ ถ้าเราส่งเสริมคนไทยหันมาใช้อุปกรณ์หรือนวัตกรรมทางดนตรีของคนไทยได้ เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในตลาดได้อีกมากมาย ตลาดอาเซียน 10 ประเทศ มีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และหากรวมประชากรทั้งเอเซีย 4,160 ล้านคน คิดเป็น 60% ของประชากรทั่วโลก”

ส่วนนายโสฬส ปุณกะบุตร โปรดิวเซอร์ชั้นแนวหน้าของไทย กล่าวว่า “สมัยก่อนเรียนรู้ด้วยตนเองใช้เวลานานมาก เราใช้เวลา 30 ปี ทำแบบเดิมไม่ทันการณ์ ต้องลดเหลือ 3 ปี ต้องตามให้ทันโลกและต้องพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำดนตรีในเอเซียเพื่อไปประกบตะวันตก รัฐบาลควรให้การส่งเสริมสนับสนุนวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดียให้มากและจริงจัง เพราะเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่สอดแทรกและมีอิทธิพลต่อผลิตภัณฑ์และบริการมากมายของประเทศ ผมอยู่ในสมัยของการเปลี่ยนแปลง จากเทคโนโลยีอนาล็อกรุ่นเก่าจนรุ่นปัจจุบันเป็นดิจิตอลไปแล้ว จากประสบการณ์เป็นซาวด์เอนจิเนียร์ด้วย  การได้มาเป็นอาจารย์ได้ถ่ายทอดวิชาการและทักษะประสบการณ์แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่พัฒนาบุคคลากรในภาคอุตสาหกรรมดนตรีและการสื่อสารบันเทิง ที่กำลังขาดแคลนหลายด้าน ทั้งการวิเคราะห์วิจัย ออกแบบ บันทึกเสียง ผลิตนวัตกรรมในด้านดนตรีมาร่วมพัฒนาประเทศ มาเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยี ความรู้และประสบการณ์”

ขณะที่ อ.ดนู ฮุนตระกูล ศิลปินศิลปาธรและผู้ก่อตั้งวงไหมไทย กล่าวว่า “ข้อดีของเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้ศิลปินเข้าถึงผู้ฟังโดยตรงได้กว้างขึ้น ลดการพึ่งพาค่ายเพลงลง การแสดงสดที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญและเป็นแหล่งรายได้ที่มาทดแทนการจำหน่ายแผ่นเพลง นวัตกรรมการจัดการบริหารวงดนตรีนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างความสำเร็จ  อย่างวงดนตรีไหมไทย เป็นดนตรีที่ใช้ออร์เคสตราบวกกับนักร้องมารวมกัน คนทั่วไปมักเข้าใจผิดคิดว่าฟังยาก ทำให้คนกลัว ไม่กล้าสัมผัส ซึ่งจริงๆแล้วเราต่างก็คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์และการแสดงต่างๆก็เป็นดนตรีจากวงออร์เคสตราทั้งนั้น ออร์เคสตราเป็นเหมือนของหวาน ถ้าผมยืนหยัดเล่นวงออร์เคสตรา ผมต้องอยู่ให้ได้ แต่จะหาวิธีแนวใหม่...คิดนอกกรอบ เลยตัดสินใจจะเอาวงดนตรีไหมไทยไปเล่นหลายๆที่ 10 รอบ 10 จังหวัด  ทั้งโรงเรียน หน่วยงานราชการ ชุมชนจับมือกันให้ความสนใจเพราะดนตรีทำให้พลังชุมชนเข้มแข็ง เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดได้สัมผัสกับดนตรีและเวิร์คช้อป   แต่ละชุมชนที่เราไปจะเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตเราด้วย”

ด้านนายวรวิทย์ พิกุลทอง หรือ บอย อินคา กล่าวว่า “หากจะยกระดับเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทักษะของคนในสายงานดนตรีต้องเปลี่ยนเป็นทักษะ 4.0 ด้วย เรายังขาดการสร้างคนในสายงานนี้ซึ้งใช้ทั้งศิลป์และศาสตร์ทางเทคโนโลยีโดยตรง  ในการทำงาน เราศิลปินต้องเป็นคนกลางที่จะสื่อสารดนตรีออกไปสู่ผู้ฟัง  เทคโนโลยีปัจจุบันกับสมัยก่อนต่างกันมาก สตูดิโอพัฒนาไปไกล เป็นระบบคอมพิวเตอร์ บุคลากรที่ทำงานร่วมกับนักดนตรีจึงต้องมีทักษะ 4.0 ที่จะทำให้งานผลิตดนตรี การแสดงและการสื่อสารบันเทิงออกมาตรงโจทย์และสนองตอบต่อกลุมเป้าหมาย  การพัฒนาคนเป็นหัวใจสำคัญ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาต้องจับมือให้มั่นเผยแพร่หลักสูตรองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ของไทย ก้าวทันนวัตกรรมและสามารถต่อยอดสร้างมันขึ้นมาเองให้ได้”

สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้เวลาที่รัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม ไอซีที และพาณิชย์ ควรปักธงส่งเสริมอย่างบูรณาการควบคู่กับการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านอุปกรณ์ แอพพลิเคชั่นและผลงานดนตรีของไทยกันอย่างจริงจัง