70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอนจบ) พระอัจฉริยภาพ ปกคลุมพื้นที่ภาคกลาง

23 พ.ย. 2559 | 02:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาทฉบับนี้จะปิดทริปสุดท้ายกันที่ 9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคกลาง ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เชิญชวนให้คุณได้ร่วมตามรอยพระบาท

เพียง “มันเทศ” ที่ชาวบ้านนำมาถวายแด่ในหลวง ณ พระราชวังไกลกังวล และถูกนำไปเก็บไว้ที่ตราชั่งในห้องทรงงานเพียงในเดือนต่อมา ก็เกิดแตกใบออกมา จึงมีพระราชดำริให้รีบจัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินกว่า 250 ไร่ใจกลางหุบเขาในเขตบ้านหนองคอไก่ อำเภอท่ายาง พลิกฟื้นพัฒนาพื้นที่แห้งแล้งนี้ให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเต็มรูปแบบ ทั้งแปลงปลูกข้าวพืชผักเศรษฐกิจหลากชนิด ฟาร์มเลี้ยงโคและไก่ ตลอดจนกังหันลม แผงโซล่าเซลล์ พร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโครงการ และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นี่จึงเป็นจุดกำเนิดและความสำคัญ ของ“โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ”จ.เพชรบุรี

ย้อนกลับไปเมื่อปี2533 แม่น้ำเพชรบุรีที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตคน 2 ฝั่งน้ำ ประสบปัญหาเรื่องสภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล แต่ด้วยความตั้งพระราชหฤทัยจะแก้ปัญหาดังกล่าว จึงนำไปสู่การใช้พื้นที่บริเวณตำบลแหลมผักเบี้ยอำเภอบ้านแหลม ทำ“โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย” จ. เพชรบุรี ที่นี่จึงถือว่าเป็นต้นแบบการบำบัดน้ำเสีย สู่น้ำใส ด้วยกลไกของธรรมชาติ

ในอดีตเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า-คลองคอย อำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณนี้เคยเป็นนากุ้งมาก่อน แต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯวนอุทยานปราณบุรี ในปี 2539 และได้ผ่านพื้นที่แห่งนี้ แล้วพบว่าพื้นที่ป่าหายไปกลายเป็นนากุ้ง กรมป่าไม้จึงได้สนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานนากุ้งในปีนั้น แล้วได้ยกพื้นที่ส่วนนี้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ จนกลายเป็น“ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี” มหัศจรรย์ป่าคนสร้าง พลิกฟื้นนากุ้งร้างให้เป็นป่าชายเลน

[caption id="attachment_114560" align="aligncenter" width="500"] • โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย • โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย[/caption]

การจัดหาอาชีพให้เกษตรกรได้ทำในช่วงเวลาว่างจากการเกษตรเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เพียงพอแก่การยังชีพ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์งานช่างฝีมือแบบศิลปะไทยโบราณ ถือเป็นหัวใจของ “ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร” จ.พระนครศรีอยุธยา จุดหมายปลายทางสารพันงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่า ซึ่งที่นี่มีงานอบรมถึง 29 แผนกเข้าด้วยกัน เน้นรับฝึกเกษตรกรชาวบ้านที่มีฐานะยากจน และคนพิการที่มีใจรักในงานหัตถกรรม

ไหนๆเมื่อมาเยือนกรุงเก่าแห่งนี้แล้ว ใครที่ชื่นชอบเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมยุโรป คงต้องตรงมาที่ “วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร” อารามหลวงบนเกาะกลางแม่น้ำ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น โดยศึกษาแบบจากโบสถ์ฝรั่งสไตล์โกธิค ทั้งข้ามมาอีกฝั่งของแม่น้ำ ก็เป็นที่ตั้งของ“พระราชวังบางปะอิน”

ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนักเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จ.ปทุมธานีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งขึ้นในโอกาสเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ ที่นี่คุณได้ค้นหา 10 แนวคิดพอเพียง และการเรียนรู้วิถีเกษตรตามรอยพ่อ

[caption id="attachment_114562" align="aligncenter" width="500"] • พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ จ.ปทุมธานี • พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ จ.ปทุมธานี[/caption]

อีกแหล่งฝึกอบรมและศึกษาเชิงวิชาการเกษตรและอาชีพให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออก ถือเป็นภารกิจของ“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”จ.ฉะเชิงเทรา จากที่ดินพระราชทานและที่ดินที่ชาวบ้านถวายเพิ่ม รวม 1,895 ไร่ และความร่วมมือของ 4 หน่วยงานทั้งกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมป่าไม้ และกรมปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และที่นี่ยังเป็นแหล่งเที่ยวเชิงเกษตร ที่คุณจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตเรียบง่ายพอเพียงตามแนวคิดของพ่อนั่นเอง

ปิดทริปด้วย 2 เส้นทางสุดท้ายในจ.กาญจนบุรี ที่คุณจะได้สำนึกและซาบซึ้งในเอกราชของชาติไทย กับสมรภูมิสนามรบยุทธหัตถี ในท้องที่ดอนเจดีย์ ณ“พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ส่วนอีกจุดสำคัญอยู่ที่อ.ท่ามะกา พระอารามหลวงชั้นตรีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชาติไทย“วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร”ซึ่งวิหารพระแท่น ประดิษฐานพระแท่นบรรทมเป็นหินแท่งทึบ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ทั้งหมด 70 เส้นทางตามรอยพระบาท กว่า 10 ตอนที่ Take A trip นำเสนอไป ถือเป็นส่วนหนึ่งอันน้อยนิดของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งไม่มีที่ใดบนผืนแผ่นดินไทยที่พระองค์เสด็จฯไปไม่ถึง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559