เร่ง‘คลัง’ทวงคืนภาษีเชฟรอน สตง.หวั่นรายอื่นลอกเลียนแบบ

23 พ.ย. 2559 | 12:00 น.
เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามกันต่อเนื่องต่อกรณีการขอคืนภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งไปใช้ในเขตพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมของ บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่อยู่นอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล ซึ่งสำนักกฎหมายกรมศุลกากรตีความว่าพื้นที่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งน้ำมันออกนอกราชอาณาจักร ทำให้บริษัท เชฟรอนฯ มาขอคืนภาษี มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท

ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ออกมาท้วงติงว่า เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะต้องเรียกคืนเงินภาษีจากบริษัท เชฟรอนฯ โดยเร็วที่สุด

 เร่งคลังเรียกคืนภาษีเชฟรอน

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงการตรวจสอบการเรียกคืนเงินภาษีจากบริษัท เชฟรอนฯ ว่า สตง.เข้าไปดูส่วนนี้ตามหน้าที่ว่ากระบวนการในการคืนเงินภาษีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมถึงมีการคืนภาษี เท่าที่ติดตามเรื่องพบว่าก่อนหน้านี้การคืนเงินภาษีไม่ชอบมาพากล เพราะที่ผ่านมาเชฟรอนเองเสียภาษีมาโดยตลอดโดยไม่ได้ติดใจ

ส่วนน้ำมันดิบที่ซื้อกลับมาจากโรงกลั่น เขาไปกลั่นแล้วซื้อกลับมาเพื่อจะใช้ที่แท่นขุดเจาะ ซึ่งแท่นขุดเจาะนี้อยู่ในแท่นขุดเจาะในเขตสัมปทานประเทศไทย และมีการส่งเข้ามาเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันแต่ส่งมาที่แท่น ไม่ได้ส่งออกไปใช้ที่ไหนเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก ต้องติดตามว่าทำไมถึงซื้อเยอะแล้วต้องใช้อะไรขนาดนั้น

แต่เมื่อซื้อมาก็เป็นประเด็นว่าต้องเสียภาษีทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ เพราะเป็นการผลิตมาแล้วขายไปเพื่อนำไปใช้ในการผลิตอีกทีหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาก็ชำระภาษีมาโดยตลอด แต่วันดีคืนดีไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ก็มาขอให้มีการตีความจะขอคืนภาษีที่ชำระไป เหมือนกับว่าเข้าใจผิดหรืออะไร ก็ให้คืนไป

“เบ็ดเสร็จเราคิดตามดอกเบี้ยก็ประมาณ 3,000 ล้านบาท ก็คืนให้เขาไป สตง.มองว่าเป็นความเสียหาย เราก็เลยทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการคลัง ที่ดูแลหน่วยงานจัดเก็บรายได้ภาษีให้ดำเนินการติดตามทวงคืนมา”

 ตีความผิดเท่ากับเสียอธิปไตย

ผู้ว่าการ สตง. กล่าวว่า เรื่องนี้เคยมีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กฤษฎีกาแจ้งว่าให้ 3 หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ร่วมกันพิจารณา เราคิดว่าขณะนั้นมีการประชุมพอสมควรก็ยึดหลักของประเทศชาติ มีข้อสรุปมาว่าจะต้องเสียภาษี ก็แปลว่า ที่คืนไปนั้นไม่ถูกต้อง เมื่อรู้ว่าไม่ถูกต้องก็ต้องติดตามทวงคืน

“ตรงนี้เลยเป็นประเด็นที่ยิ่งย้ำเสริมให้เชื่อมั่นว่านอกจากมีสัมปทานในประเทศไทยแล้ว ซื้อน้ำมันกลับมาใช้ในแท่นถ้าไม่ได้เสียภาษีจะนับได้อย่างไรว่ามันอยู่ต่างประเทศ ถ้าเราไปตีความอย่างนี้เท่ากับเราเสียอธิปไตยเลย”

เพราะต่อไปคนจะมาอ้างว่าเห็นไหมแท่นน้ำมันยังไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะนี้คือต่างประเทศแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย ทีนี้เมื่อเราทำหนังสือแจ้งไป กลับปรากฏสวนทางกลับมา ด้วยการจะส่งไปตีความอีกแล้ว ซึ่งจะไปตีความอะไรอีกก็ยังไม่รู้ หรือว่าท่านมั่นใจอะไรนักหนาว่าตอนขอสัมปทานอยู่ในประเทศไทยไม่เสียภาษีให้ประเทศไทยแล้วจะไปเสียภาษีให้ประเทศไหน เพราะฉะนั้นเราจึงทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง แสดงจุดยืนว่าไม่น่าเสียเวลาอีกแล้ว จะเข้าใจถูกเข้าใจผิดอย่างไร ต้องเร่งไปเอาภาษีคืนมาให้ได้

แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นผล เพราะขณะนี้เท่าที่ทราบส่งไปตีความกันอีก ผลออกมาก็ไม่รู้จะหัวหรือก้อยอย่างไร และก็มีข่าวมาว่าขณะนี้ก็มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง คือสอบข้อเท็จจริงด้วย หารือด้วย โอ้โหแสดงว่าข้อเท้จจริงอะไรก็อาจจะยังไม่นิ่งหรืออย่างไรถึงจะต้องหารือไปด้วยสอบข้อเท็จจริงด้วย คู่ขนานกันไป เหมือนกล้าๆกลัวๆ ยังไงไม่ทราบ แต่การสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องดีจะได้รู้ว่าความจริงมันคืออะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้อาจจะต้องรอผล

 ข้องใจตีความให้รัฐเสียประโยชน์

“ในส่วนของสตง.เรามองว่าไม่จำเป็นต้องรอ เรายังยึดหลักการหลักเกณฑ์อยู่ว่าเรื่องนี้ต้องมีการเรียกคืนภาษีจากเชฟรอน เราดูเหมือนว่าเชฟรอนนิ่งมากเลย กลายเป็นว่าทางฝ่ายราชการเต้นกันเอง คือคนที่มีหน้าที่จัดเก็บเดี๋ยวก็ตีความว่าต้อง เดี๋ยวก็ตีความว่าไม่ต้อง แต่โดยหลักการในหลักกฎหมายเราก็เห็นชัดๆ ว่าพื้นที่ที่มีการติดตั้งแท่นขุดเจาะ ในเมื่ออยู่ในเขตสัมปทานแล้ว ก็ต้องอยู่ในเขตประเทศไทยอย่างปราศจากข้อสงสัย ถ้าจะมีการเทียบเคียงกฎหมายก็ต้องเทียบเคียงกับกฎหมายที่ใกล้เคียง จะไปเอากฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ หรือกฎหมายทางทหารมา ผมว่ามันไม่ตรงข้อเท็จจริง”

ผู้ว่าการ สตง. ระบุด้วยว่า ถ้าเทียบเคียงกฎหมายข้อเท็จจริงต้องเทียบเคียงกับกฎหมายของสรรพากร ที่เขาถือไหล่ทวีปไม่ได้ถือไมล์ทะเล ซึ่งอันนี้จะทำให้รัฐไม่เสียเปรียบ เพราะฉะนั้นขณะนี้ต้องติดตามทวงถามในเรื่องที่ว่าเมื่อไหร่จะเรียกคืน ถ้าปล่อยเวลาเนิ่นนานไป ก็จะกลายเป็นเรื่อง มันจะงอกออกมาอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่ตอนนี้เรื่องเก่ายังอึมครึมอยู่เลยว่าเกิดอะไรขึ้น คิดอะไรไม่ออกหรืออย่างไรถึงจะไปคืนภาษี

“อันนี้ก็เป็นส่วนของสตง.ที่แสดงจุดยืนว่าต้องเรียกคืนโดยทันทีโดยเร็วที่สุด”

ผู้ว่าการ สตง. ย้ำว่า สตง.ได้ส่งหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกบอกว่าให้ติดตามทวงคืน ครั้งหลังก็บอกว่าช่วงที่ปรากฏว่าไปตีความเราก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปตีความอะไรอีก เพราะกฤษฎีกาบอกแล้วว่าให้ 3 หน่วยงาน ไปตกลงกัน อันนี้ก็คงต้องเป็นไปตามนี้ จริงๆ แล้วไม่ต้องไปคิดอะไรมากเลย ถ้าถามว่าแล้วอีกหน่อยบริษัทน้ำมันที่อยู่ในประเทศไทย แต่แท่นขุดเจาะอยู่แถวๆ นั้น แล้วจะมาขอคืนภาษีบ้าง มันจะไม่วุ่นวายกันใหญ่เลยหรือ อยู่ดีดีไปตีความให้รัฐเสียประโยชน์ ไม่รู้ว่ามีเจตนาอะไร”

 คนชงให้คืนภาษีต้องรับผิดชอบ

ส่วนกรณี 30 ปี ที่ผ่านมา เชฟรอนก็เสียภาษีปกติ แต่มาปี 2554-2555 เขามาขอคืนภาษีใช่หรือไม่ นายพิศิษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า อยู่ดีๆมาตลอด แต่มาถึงช่วงหลังนี้ปรากฏข้อสงสัยกังขาอะไรขึ้นมา ก็เช่นเดียวกันคนที่กังขานี้ไม่แปลก แต่คนที่ตีความให้แปลกนั้นคือ คนที่ต้องรับผิดชอบ หรือใครก็ตามที่มีการชงเรื่องให้คืนภาษี ซึ่งตอนนี้ถ้าเป็นเรื่องเข้าใจผิดก็รีบๆไปเอาคืนมา แต่ถ้าดันทุรังอย่างนี้ เดี๋ยวสอบสวนไปก็จะเห็นถึงเจตนา

ส่วนเรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อันนี้ก็จะมีปัญหา เพราะว่าการจัดเก็บตรงนี้จะลักลั่นกันและสร้างปัญหาขึ้นมาว่า หน่วยงานจัดเก็บมองอะไรไม่ตรงกัน ทั้งที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลหน่วยเดียวกัน

“เบื้องต้นเรามองว่าแน่นอนในส่วนของกรมสรรพากรเขาเขียนว่าไหล่ทวีป เขาก็คงต้องจัดเก็บในส่วนนั้นเพราะจะแปลเป็นอย่างอื่นก็คงไม่ได้ ผมเชื่อว่ากรมสรรพากรพยายามจะทำหน้าที่เช่นเดียวกับกรมศุลกากร ขณะนี้เท่าที่ประเมินดูในเบื้องต้นผู้รับผิดชอบขณะนี้ก็มีความตั้งใจที่จะติดตามเอาภาษีส่วนนี้คืนมา ส่วนเรื่องในอดีตเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้ส่วนที่เร่งด่วนคือต้องเร่งติดตามภาษีคืนมาก่อน เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ”

 ต้องตีความรักษาประโยชน์ชาติ

เมื่อถามว่าการขอคืนภาษีตอนนั้นพบว่าอธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ผู้ว่าการ สตง. ตอบว่า ก็เห็นว่ามีฝ่ายกฎหมายที่ไปตีความแล้วทำให้เกิดการเสียเปรียบ ฉะนั้นเราก็ต้องติดตามในส่วนนี้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นอีกหน่วยหนึ่งกันแน่ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตีความอาศัยกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นศุลกากร สรรพากร และสรรพสามิต แต่หลักการการตีความในเรื่องกฎหมายการคลัง เราก็ต้องตีความให้รักษาประโยชน์ของประเทศชาติจึงจะถูกต้อง อย่างครั้งนี้ที่ไปหารือกฤษฎีกาน่าติดตามเหมือนกันว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไร แล้วถ้าผลออกมาเป็นไปในลักษณะที่อาจจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่า แต่เชื่อมั่นว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอะไร เพราะหลักง่ายๆ ที่เราดูกันในเบื้องต้นก็เห็นอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ไม่น่าจะมาขอสัมปทานในประเทศไทย

“หลังจากเมื่อได้รับการติติงไป ก็มีการประชุมกันว่าจะหารือขณะเดียวกันก็จะสอบข้อเท็จจริง ผมว่าข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องสอบให้เยอะ รีบๆ เอาตังค์คืนมาน่าจะถูกต้องมากกว่า จริงๆ ก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการประชุมหารือกันตามที่กฤษฎีกาตีความว่าให้ไปหารือ แล้วคำตอบก็คือ อยู่ในประเทศไทยก็ต้องเสียภาษี ต้องไปทวงคืน แล้วต่อไปก็ต้องเสีย”

 หวั่นบริษัทอื่นเลียนแบบเชฟรอน

ส่วนที่มองกันว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง เพราะเคยเป็นอธิบดีกรมศุลกากรมาก่อน ผู้ว่าการ สตง. ชี้ว่า คิดว่าไม่น่าจะเป็นอย่างไรนั้น เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ต่อต้านคอร์รัปชัน และท่านก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องธรรมาภิบาลในเรื่องการบริหารจัดการเพราะฉะนั้นอะไรจะถูกต้องไม่ถูกต้องก็ต้องว่ากันตรงไปตรงมา แต่ขณะนี้ปัญหาคือยังไม่ถึงกระบวนการที่ผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะตัดสินในเรื่องนี้ ก็ยังเป็นกระบวนการที่ยังดึงกันไปดึงกันมาอยู่

เมื่อซักว่าได้รายงานเรื่องนี้ให้ศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) รับทราบหรือยัง นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ยัง เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น คิดว่าในกระทรวงการคลังน่าจะแก้ไขกันเอง เรื่องที่คืนก็ไม่ถูกต้อง เรื่องที่ไม่รีบทวงคืนก็ไม่ถูกต้องอีก มันก็จะไปกันใหญ่ประเด็นมันก็จะบานปลาย แล้วความเสียหายก็ไม่ได้รับการบรรเทาเสียที แล้วอาจจะมีความเสียหายกับระบบการจัดเก็บภาษีตามมาอีกเพราะบริษัทอื่นอาจจะได้ตัวอย่างก็ทวงคืนบ้าง ดื้อไม่ยอมเสียภาษีเลย ทีนี้อันนี้ก็จะเสียหายทั้งระบบของการจัดเก็บรายได้ของรัฐ จะเกี่ยวกับสรรพสามิต สรรพากร ศุลกากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559