70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน9) พระอัจฉริยภาพ ปกคลุมพื้นที่ภาคกลาง

20 พ.ย. 2559 | 08:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาท ในพื้นที่ภาคกลาง มีมากถึง 16 เส้นทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เชิญชวนให้คุณได้ตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน Take a trip ฉบับนี้ได้ดึง 7 โครงการใน 6 จังหวัดมานำเสนอ

หากกล่าวถึงเขื่อนดินยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยสถิติ 4,860 เมตร เกราะป้องกันอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯและแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี่เป็นความสำคัญของ“เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” จ.ลพบุรี เขื่อนแม่น้ำป่าสัก ที่เก็บกักน้ำได้มากกว่า 960 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการในพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรเท่านั้น ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของลพบุรี และเป็นจุดชมปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด อาทิ ปลากระโห้ ปลายี่สก ปลากระเบน แหวกว่ายในตู้ปลาขนาดใหญ่

จากสภาพคดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณรอบพื้นที่เขตบางกระเจ้า ซึ่งมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร การระบายน้ำท่วมขังพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯจึงเป็นไปได้ช้าไม่ทันช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน ในหลวง จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาคลองลัดโพธิ์ให้กลายเป็นทางระบายน้ำ ที่สามารถเปิดประตูระบายน้ำได้ทันทีที่น้ำท่วมขังตัวเมืองใน 2 ฝั่งน้ำ และปิดประตูระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูง “โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์”จ.สมุทรปราการจึงเกิดขึ้น ทั้งที่นี่ยังมีการทดลองติดตั้งกังหันทดน้ำแบบหมุนตามแนวแกน(Axial Flow)และแบบหมุนขวางการไหล(Cross Flow) สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อันเป็นต้นแบบไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าตามประตูระบายน้ำแห่งอื่นๆด้วย

มาที่นี่นอกจากได้เรียนรู้พระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำออกจากเมืองหลวงยังเป็นจุดถ่ายภาพมุมเก๋ๆของถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรเชื่อมกรุงเทพฯเข้ากับฝั่งธนบุรี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่าลืมแวะเลาะชุมชนคลองบางกระเจ้า สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ผูกพันกับสายน้ำ และไม่ไกลกันก็มีตลาดบางน้ำผึ้ง ให้เลือกชิมช็อปได้ตามชอบ

MP27-3210-b “อัมพวา”จัดว่าหนึ่งในชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดี แต่เพื่อให้เกิดการสานต่อภูมิปัญญาและวิถีชีวิตให้คงอยู่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงทรงส่งเสริมให้เกิด “โครงการอัมพวา-ชัยพัฒนานุรักษ์” จ.สมุทรสงครามขึ้นหลังจากชาวบ้านได้ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงที่ดินสวนผลไม้ รวมกันกว่า 26 ไร่ ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ที่นี่จึงเกิดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนร่วมแสดงออก ผลิตสินค้าท้องถิ่น และสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งไม่ไกลกันยังเป็นที่ตั้งของ “อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” อุทยานแห่งเรื่องราวที่บอกเล่าวิถีไทยในสมัยรัชกาลที่ 2

เมืองแห่งโคนม จ.สระบุรี ซึ่งเป็นจุดริเริ่มของ “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” เกิดขึ้นในปี2530 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชนินาถ เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์ค และทรงสนพระทัยในกิจการโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี 2505 รัฐบาลเดนมาร์คและสมาคมเกษตรกรโคนมเดนมาร์ค ได้น้อมเกล้าฯถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมขึ้นที่ อ.มวกเหล็ก โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทยจัดตั้งฟาร์มโคนมขึ้น ก่อนจะโอนกิจการทั้งหมดให้รัฐบาลไทยและจัดตั้งเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ขึ้นมา

กิจกรรมห้ามพลาดของที่นี่ คือ “พิพิธภัณฑ์สองกษัตริย์ไทย-เดนมาร์ค” ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อครั้งในหลวงและสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดริคที่ 9 ทรงเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย-เดนมาร์คแห่งแรกที่จ.สระบุรี การได้เรียนรู้วิธีการทำโยเกิร์ตแบบง่ายๆ การรีดนมวัว ปั่นจักรบานเสือภูเขาชมการเลี้ยงโคนมทั่วฟาร์ม พร้อมกับซื้อผลิตภัณฑ์นม ติดไม้ติดมือกลับบ้าน

[caption id="attachment_113924" align="aligncenter" width="503"] ศูนย์เรียนรู้วีถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย-นาเฮียใช้ ศูนย์เรียนรู้วีถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย-นาเฮียใช้[/caption]

แหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาหาความรู้เรื่องข้าวและวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต คุณค้นพบได้ ณ “ศูนย์เรียนรู้วีถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย-นาเฮียใช้” จ.สุพรรณบุรี อันเกิดจากความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ของตระกูลเจริญธรรมรักษา ที่ริเริ่มการค้นหาเกษตรกรที่ขยันซื่อสัตย์รับผิดชอบในหน้าที่ มาช่วยพัฒนาระบบเมล็ดพันธุ์ข้าว จนได้ข้าวที่มีความบริสุทธิ์สูงผ่านเกณฑ์ตามที่พ.ร.บ.พันธุ์พืชกำหนด ในปี พ.ศ.2540 จนมีสมาชิกชาวนาที่ปลูกข้าว 313 ครอบครัว บนพื้นที่ราว 5,000 ไร่ที่นี่จึงเป็นศูนย์ฯจำหน่ายเมล็ดข้าวสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวนาปรัง และผักปลอดสารพิษอีกด้วย

จากจุดด้อยของพื้นที่ในตำบลบางเสด็จ จ.อ่างทอง ที่มีปัญหาน้ำท่วมไร่นาอยู่เสมอ แต่กลับมีจุดเด่นคือดินเหนียวคุณภาพ จากจุดนี้เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงตามเสด็จฯในหลวง ได้ทรงเห็นว่าพื้นที่นี้มีดินที่เหมาะสมแก่การปั้น“ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ” จึงกำเนิดเป็นงานหัตถศิลป์ล้ำค่าแก่ชาวบ้าน ใครกำลังมองหาของขวัญของชำร่วยแฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์ และชื่นชอบการละเล่น และความเป็นอยู่แบบไทย ท่ามกลางความร่มเย็นของริมน้ำเจ้าพระยา ต้องแวะมาเยือนบ้านบางเสด็จแห่งนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,210 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2559