รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ เชื่อมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว

19 พ.ย. 2559 | 04:00 น.
จ่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เข้าไปทุกขณะแล้วสำหรับรถไฟเส้นทางนี้หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 10 ปี ศึกษาและทบทวนผลการศึกษาผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า หมดค่าใช้จ่ายไปไม่น้อย อีกทั้งยังผ่านผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)มาแล้วหลายคน แต่ก็ยังดำเนินการไม่สำเร็จสักที

ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รถไฟเส้นทางนี้กลับมามีความหวังสำหรับคนภาคเหนืออีกครั้งหลังจากที่เริ่มดำเนินการศึกษาสำรวจเส้นทางเบื้องต้นมาตั้งแต่ปี 2503 เมื่อรัฐบาลมองเห็นความสำคัญของเส้นทางเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากภาคเหนือในโซนพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ลงสู่พื้นที่ภาคกลางและเชื่อมไปสู่ภาคอื่นๆของประเทศไทย ทั้งสามารถเชื่อมไปสู่ ส.ป.ป.ลาวและจีนตอนใต้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ประการสำคัญสืบเนื่องจากรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพน.) ได้มีนโยบายผลักดันการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศด้วยการสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน การให้สิทธิประโยชน์ ทางการลงทุน และบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เพื่อให้เป็นประตูเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดังนั้นนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลด้วยการเร่งผลักดันลงทุนด้านการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการเดินทาง และการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยได้เร่งรัดแผนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จังหวัด เชียงราย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลหา ผู้รับเหมาได้ในปี 2560 และเปิดให้บริการเดินรถได้ภายในปี 2563

แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟเด่นชัย จ.แพร่ไปยัง อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมระยะทาง 326 กิโลเมตร รวม 26 สถานี วงเงินกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างราว 7.1 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 3,808 ล้านบาท(ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7,292 แปลง จำนวนพื้นที่ 9,661 ไร่) ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 59 ตำบล 17 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดแพร่(อ.เด่นชัย อ.สูงเม่น อ.เมืองแพร่ อ.หนองม่วงไข่ อ.สอง) จังหวัดลำปาง(อ.งาว) จังหวัดพะเยา (อ.เมืองพะเยา อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว) จังหวัดเชียงราย (อ.ป่าแดด อ.เทิง อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.ดอยหลวง อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ) มีอุโมงค์ 3 แห่ง อุโมงค์แรก อ.สอง จ.แพร่ ยาว 6.4 กิโลเมตร (ยาวที่สุดในประเทศ) อุโมงค์ที่สอง อ.เมืองพะเยา 2.8 กิโลเมตร และอุโมงค์สุดท้าย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย 3.6 กิโลเมตร ตลอดระยะทางมีระบบป้องกันอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ เช่น สะพานข้าม ทางยกระดับ

สถานะปัจจุบัน ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะมีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท. เพื่อเสนอ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และขออนุมัติจากครม. ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะมีการหารือกับฝ่ายวิศวกรเพื่อแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 3 ช่วงโดยจะสร้างไปพร้อมๆ กัน แทนการสร้างเป็นทางยาวรวดเดียว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เขตพัฒนาเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง การค้า การลงทุนทางภาคเหนือของไทย ประกอบไปด้วย 21 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย และยังมีชายแดน ติดกับประเทศเมียนมา สปป.ลาว รวมทั้ง เชื่อมต่อไปถึงมณฑลยูนนาน ประเทศจีนได้อีกด้วย ซึ่งร.ฟ.ท.ประเมินว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนา ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยประเมินว่าภายในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2 ล้านคนต่อปี และมีปริมาณขนส่งสินค้าได้สูงถึง 2,09 ล้านตันต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,210 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2559