'ศาสตร์'พระราชากับปัญหาจราจร พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์

12 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
ความห่วงใยในพสกนิกรชาวไทยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ คงเล่าขานกันไม่มีวันจบสิ้น “ในหลวงในดวงใจ” จึงขอถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่าน พล.ต.อ. จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการตำรวจจราจร โครงการพระราชดำริ และผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทใกล้ชิดในการแก้ปัญหาการจราจรในกทม. และเรื่องอื่น ๆ

 ประชาชนต้องร่วมมือถึงจะสำเร็จ

ย้อนไปกว่า 20 ปี พล.ต.อ.จำลอง จำได้แม่นว่า เดือนสิงหาคม 2536 พล.อ. เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์ได้เชิญผมไปพบที่กรมราชองครักษ์ แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 8 ล้านบาท ให้ไปจัดซื้อรถจักรยานยนต์ แก้ปัญหาจราจร พร้อมพระราชทานแนวทางแก้ไข 5 ประการ คือ 1. ให้ผู้ใช้รถเคารพกฎจราจร 2.ใช้จักรยานยานยนต์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่ 3. ใช้รถจักรยานยนต์ ดูแลการจราจรให้รถเคลื่อนที่ไปได้เรื่อย ๆ 4.ใช้รถจักรยานยนต์ แก้ปัญหาคอขวด และ5. ให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ให้ความร่วมมือ

“ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขณะนั้นได้ตอบสนองทันที เป็นครั้งแรกที่กรมตำรวจใช้รถจักรยานยนต์เป็นกองร้อยเคลื่อนที่เร็ว เมื่อเห็นผลดีจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์อีกหลายครั้งและการใช้ม้าเร็วนับว่าแก้ปัญหาได้ตรงจุด ส่วนแนวทางแก้ปัญหาข้อที่ 5 ผมว่าคือปรัชญาของพระองค์ท่านเพราะไม่ว่าจะทำโครงการใดถ้าไม่ได้ความร่วมมือกับประชาชนคงไปไม่รอด” พล.ต.อ.จำลองกล่าวถึงจุดเริ่มต้นถวายงาน

นับจากนั้นจึงเกิดโครงการพระราชดำริตามมาอีกหลายโครงการ ทั้งการขยายสะพาน ถนน รวมถึงการอบรมตำรวจให้ทำคลอดบนรถแท็กซี่ ทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์อีก 1 ล้านบาทให้กองบังคับการตำรวจดับเพลิง รับสั่งให้ไปซื้อรถปิกอัพ เครื่องสูบน้ำ วิทยุสื่อสาร ให้ตำรวจดับเพลิงไปแก้ปัญหาฝนตกน้ำท่วม รถเสีย รถติด พระองค์ทรงเป็นห่วงมาก กลัวเด็กไปโรงเรียนต้องอดข้าว อดน้ำ

ปกครองให้เหมือนพ่อปกครองลูก

“เอาแผนที่มากางไว้ ทำเครื่องหมายไว้เวลาฝนตกไม่ต้องรอให้เขามาแจ้ง รถปิกอัพไปเลยไปรอสูบน้ำออกเลย ไม่ต้องกลัวแผนที่ขาด ขาดแล้วซื้อใหม่ ” ทรงรับสั่งผ่านพล.อ. เทียนชัย ในระยะแรก ให้ปฏิบัติ ตามนี้

อีกทั้งยังพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านบาท จักรยานยนต์ 100 คันคูปองน้ำมัน 1 ล้านบาท เพื่อให้ไปช่วยเหลือคนป่วยที่จะไปโรงพยาบาล ทรงรับสั่งว่า “เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพราะเป็นห่วงว่าถ้าไปถึงช้าจะไม่ทัน” พระองค์ทรงลึกซึ้งมีพระเมตตา แต่บางครั้งก็มีอารมณ์ขัน วันหนึ่งหลังเสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จย่าที่วังสระปทุม ซึ่งเสด็จฯตอน 3 ทุ่มทุกวัน ผมเข้าเฝ้าฯทุกวัน ก่อนเสด็จฯกลับตรัสว่า “ตอนมาหัวค่ำ ตำรวจเขาวิทยุว่ากัน ว่าปิดถนนช้า ก็เลยบอกเขาว่าไม่เป็นไร ขากลับแก้ตัวใหม่” คือพระองค์ทรงวิทยุตอบไป และตรัสอีกว่าเขาทำงานเหนื่อยให้เขาพูดขำขันกันบ้าง ปกติเขาก็พูดกันอยู่แล้วนะ...คงจะทราบ ปกครองเขาให้เหมือน“พ่อปกครองลูก” ผมก็มาคิดว่าทำไมรับสั่งแบบนี้คือกลัวจะไปลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา ทรงละเอียดอ่อนมากกับเรื่องเล็กน้อย

 เอาน้ำทะเลไล่น้ำเน่าในคลอง

[caption id="attachment_112774" align="aligncenter" width="309"] พล.ต.อ. จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ พล.ต.อ. จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์[/caption]

ความห่วงใยในพสกนิกรยังมีอีกสุดพรรณนา พล.ต.อ. จำลอง เล่าอีกว่า วันหนึ่งทรงรับสั่งว่า “เมื่อตอนเย็น ฉันไปสะพานพุทธไปงานรัชกาลที่ 1 เห็นสายไฟฟ้าพาดที่ตู้โทรศัพท์หน้าโรงหนังเฉลิมกรุง คุณจำลองไปดูสิ มันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของคนไปใช้โทรศัพท์เผื่อฝนตก” ผมไปแจ้งกับการไฟฟ้าฯ พากันไปดู ก็เห็นจริง วันรุ่งขึ้นก็ไปถวายรายงานว่าเป็นไปตามนั้น เวลาเสด็จฯไปไหนพระองค์จะละเอียดลออ ทรงศึกษา ทรงรับสั่งให้แก้ปัญหา ไม่ใช่เสด็จฯผ่านไปเฉย ๆ

ทั้งยังพระราชทานแนวทางแก้ไขด้วยเสมอ ครั้งหนึ่งทรงรับสั่งว่า “มีคนเขาบอกว่า คลองหลังร.พ.พระมงกุฏน้ำเน่าเหม็นให้ลองไปสิ” ผมก็ไปดูและถวายรายงานว่าเป็นจริงตามรับสั่ง พระองค์ท่านทรงให้วิธีการแก้ไข เวลาน้ำทะเลขึ้นให้เปิดประตูน้ำสามเสน ให้น้ำทะเลน้ำดีมาไล่น้ำเสีย ทางบึงมักกะสันออกสมุทรปราการสู่ทะเล ถ้าน้ำไหลช้าให้ใช้เครื่องเรือหางยาวปั่น น้ำจะได้ไหลเร็ว”

 ไม่มีพระองค์ก็ต้องถวายงานต่อ

พล.ต.อ.จำลอง เล่าต่ออีกว่า พระองค์ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ช่วงสมเด็จย่าประชวร เสด็จฯไปเยี่ยมทุกวันที่โรงพยาบาลศิริราช ผมก็เข้าเฝ้าฯ วันหนึ่งพระองค์ท่านหยิบแผนที่มาจากกระเป๋าเสื้อ เขียนให้เสร็จว่าต้องทำอย่างนี้ ๆ อธิบายแผนที่แก้ตรงไหนทำอย่างไรกับปัญหาการจราจร พูดแล้วขนลุกแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ทรงเสมือนเป็นวิศวกรด้านจราจร ทรงศึกษารอบรู้ และสอนงานเสมือนพระอาจารย์

อีกเรื่องที่ผมยังจำได้ดีถึงความเมตตาของพระองค์ท่าน เมื่อปี 2538 น้ำท่วมใหญ่กทม.หลังงานพระศพสมเด็จย่า ทรงรับสั่งว่า “คุณยายเล็กอายุมากแล้วบ้านอยู่ริมคลองปากคลองน้ำดอกไม้ บางกอกน้อย น้ำทะเลขึ้นทีนอนไม่ได้ คนอายุมาก อันตรายต่อชีวิต ให้นำเรือท้องแบนที่กองทัพเรือถวาย ทำหลังคาปรับปรุงให้เป็นที่นอนได้” ผมก็นำเรือมาตกแต่งใส่ประทุนรถปิกอัพ เอาผ้าใบคุมหัวคุมท้าย มีที่นอน หมอน ซื้อของแห้งใส่กระเช้าตอน 4 โมงเย็น ให้เรือดับเพลิง ลากไป มอบให้คุณยายเล็ก ดีใจมาก ยกมือไหว้ท่วมหัวถวายพระพร

กลับมาก็ถวายรายงาน พระองค์ทรงพอพระทัย ถามว่าพระองค์ท่านทราบเรื่องนี้ได้ยังไง ? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมรู้แต่ว่าพสกนิกรที่ไหนก็ตามเดือดร้อนจะทรงทราบและช่วยเหลือ ไม่ว่ายามใด

วันนี้ไม่มีพระองค์ท่านแต่แนวทางที่พระองค์สอนถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นพูดแล้วอยากจะร้องไห้ เราทำไม่ได้เหมือนพระองค์ท่าน แม้ประชวรก็ยังทรงงาน แน่นอนว่าประชาชน ข้าราชการจะต้องนำแนวทางมาปฏิบัติต้องถวายงานตามที่พระองค์ทรงสอนไว้

ส่วนผมจำขึ้นใจอย่าง “ เอาแผนที่มากาทำเครื่องหมายไว้ ไม่ต้องกลัวขาด ขาดแล้วซื้อใหม่ ฉันทำของฉันอย่างนี้” นั่นคือพระองค์ทรงสอน พระองค์เป็นกษัตริย์ยังทำ แล้วเราเป็นใคร หรือ “ช่วยผู้ป่วยให้ถึงร.พ.ให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์” ยังกึกก้องอยู่ในโสตประสาท ทุกวันนี้สวดมนต์ถวายพระพรทุกคืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559