ไฟเขียว(ร่าง)ยุทธศาสตร์20ปีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย

08 พ.ย. 2559 | 12:28 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ดังนี้  1. ครม. รับทราบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย (ร่าง) ยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยมีแนวคิดในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในอนาคต คือ   1.1 การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่ง และโลจิสตกิส์ การสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงระบบคมนาคมภายในประเทศ และระหว่างประเทศ    1.2 การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย พลังงานทางเลือกใหม่ พลังงานประหยัด    1.3 การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม การออกแบบสำหรับคนทุกคน

(ร่าง) ยุทธศาสตร์ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน” ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านการขนส่งและการเดินทาง ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาระบบรางเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และท่าเรือ การบริหารจัดการเส้นทางรถประจำทาง เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริการของภาคคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการเดินทาง พร้อมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า การพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเท้า การขับขี่จักรยาน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย และปฏิรูปองค์กร ได้แก่ การปรับโครงสร้างองค์กร การบังคับใช้กฎหมาย การให้เอกชนมีส่วนร่วม เช่น การเร่งรัดจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อกำกับดูแลและพัฒนาด้านการขนส่งทางราง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านการเดินอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาบุคลากร ได้แก่ การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ด้านพาณิชย์นาวี การจัดตั้งสถาบันการพัฒนาฝึกอบรมบุคลากรด้านการขนส่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยี นวัตกรรมประยุกต์ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ระยะเวลาการพัฒนา แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 เร่งแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน เช่น การจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค การเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น

ระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2569 บริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วถึง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และพัฒนาระบบความปลอดภัยทางถนน เป็นต้น

ระยะที่ 3 พ.ศ. 2570 – 2574 มุ่งเน้นพัฒนาการขนส่งที่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ระยะที่ 4 พ.ศ. 2574 – 2579 พัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งทุกรูปแบบให้เป็นมาตรฐานสากล ปรับปรุงบทบาทองค์กร กฎหมาย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านคมนาคมขนส่ง

2. ครม. มีมติขยายเวลามาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทาง (รถเมล์ รถไฟฟรี) ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2560

3. ครม. มีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนาม ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงฯ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ทหาร และตำรวจ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้มีรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อลดความเสียหายของถนน และลดการเกิดอุบัติเหตุ