คมนาคมเร่งกทม.ออกแบบรถไฟฟ้าขนาดเบาสายสีทองเฟส 2

08 พ.ย. 2559 | 08:28 น.
คมนาคมเร่งกทม.ออกแบบรถไฟฟ้าขนาดเบาสายสีทองเฟส 2 เชื่อมสายสีม่วงใต้ที่สถานีสะพานพุทธ เพื่อเสนอสนข. บรรจุไว้ในแผน M-Map ระบบรางระยะที่ 2 ในกลางปีนี้

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ในโครงการรถไฟฟ้าขนาดเบา สายสีทอง (สถานีกรุงธนบุรี-ประชาธิปก) ว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ให้กทม.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองโดยจะเชื่อมต่อสายสีแดง(หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย)ที่ย่านคลองสาน โดยสายสีทองยังสามารถเชื่อมโยงกับสายสีม่วงใต้ที่สถานีสะพานพุทธได้อีกด้วยโดยการหารือร่วมกันครั้งนี้ให้กทม.คำนึงถึงระบบเชื่อมต่อการเดินทางและระบบตั๋วร่วมโดยให้กทม.รับไปดำเนินการ

"สายสีทองระยะแรก 3สถานีจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรีผ่านไปตามถนนเจริญนคร ไปยังจุดใกล้ๆโรงพยาบาลตากสินช่วงด้านหน้าศูนย์การค้าไอค่อนสยาม ให้กทม.คำนึงทางเดินเท้าและการเชื่อมต่ออย่างลงตัว ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ  3,500 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 ที่จะไปเชื่อมสถานี G5 กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใน้มี่สถานีสะพานพุทธนั้นต้องให้ได้ข้อยุติจุดตั้งสถานีภายในกลางปี 2560 นี้เพื่อไม่ให้กระทบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ อีกทั้งยังมีแผนต่อขยายเส้นทางไปยังสถานีอิสรภาพของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย MRT ในระยะต่อไปอีกด้วย โดยรถไฟฟ้าสายสีทองตามแผนที่สจส.ศึกษาไว้รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร"

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนกรณีสายสีแดงนั้นล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท. ) ได้รับงบปี 2561 เพื่อนำไปใช้ในการปรับแบบเส้นทางสายนี้ให้เป็นระบบใต้ดินช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะเร่งดำเนินการในส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะมีการก่อสร้างสกายวอร์คเชื่อมต่อกับสายสีทองและสายสีแดงในช่วงด้านหน้าโรงพยาบาลตากสินอีกด้วย

ด้านนายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสจส.กทม. กล่าวว่า สายสีทองระยะแรกได้งบประมาณประมาณการณ์และระยะเวลาดำเนินการมาเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองผลการศึกษาวิเคราะห์เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ.)

"โดยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้สามารถร้อยเรียงรถไฟฟ้าสายอื่นๆในโซนพื้นที่ฝั่งธนบุรีได้หลายเส้นทาง เป็นระบบล้อยาง คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ในปี 2560 นี้ ก่อนที่จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน วงเงินลงทุนในระยะแรกประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งกทม.ยืนยันจะลงทุนเองทั้งหมด ส่วนกรณีไอค่อนสยามจะสนับสนุนเงินลงทุนนั้นก็จะต้องไปเจรจากับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัดหรือเคทีต่อไป"