จีนแห่ตั้งรง.ยางรถยนต์ จับมือผู้ประกอบการไทย-ปูฐานผลิตเพื่อการส่งออก

11 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
ไทยยังเนื้อหอม ค่ายยางจีนแห่ลงทุน “เอ็น.ดี.รับเบอร์”เผยจับมือพันธมิตรผลิตยางรถบรรทุก –ยางรถยนต์ เพื่อส่งออกไปตลาดหลักอเมริกาและอินเดีย ด้านเค.ซี. วีล ระบุยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอบางส่วนแล้ว คาดปี 61 เริ่มผลิต พร้อมวางงบลงทุน 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ดีสโตนแบรนด์คนไทยชี้ตลาดยางในประเทศแข่งดุ

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์แบรนด์ ND RUBBER เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้มีการเจรจากับพันธมิตรจากประเทศจีนเพื่อตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในไทย โดยมีเป้าหมายคือการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ,อินเดีย ขณะที่งบลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท สามารถผลิตยางรถบรรทุกได้ 1.2 ล้านเส้นต่อปี และ ผลิตยางรถยนต์นั่งได้ 3 ล้านเส้นต่อปี ส่วนที่ตั้งของโรงงานคาดว่าจะอยู่ที่ชลบุรี เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง

“ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการล้อยางจากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย 3 – 4 ราย เนื่องจากสินค้าล้อยางจากจีนที่ส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกามีความยากมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตราการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ตรงจุดนี้เองทำให้ผู้ผลิตจากจีนต้องมองหาฐานการผลิตในประเทศอื่นๆและไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพการผลิต มีความน่าเชื่อถือ โดยการจับมือกันในครั้งนี้จะทำการผลิตทั้งแบรนด์จีน และ แบรนด์ของเราเอง ซึ่งจะเน้นตลาดส่งออกก่อนและค่อยทำตลาดในประเทศ”

นายชัยสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายแล้วเสร็จ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2560 หลังจากนั้นก็จะเริ่มผลิตได้ในปี 2562 หรือต้นปี 2563 โดยในเฟสแรกจะทำการผลิตยางรถบรรทุกก่อน ด้วยจำนวน 6 แสนเส้นต่อปี ส่วนยางรถยนต์นั่งน่าจะเป็นเฟส 2

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปี 1,000 ล้านบาทอาจจะไม่ถึง แต่กำไรและอัตราการเติบโตยังถือว่าโตเมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา ส่วนกลยุทธ์การตลาดในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้จะมีการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง มีการใช้ช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น ขณะที่สินค้าใหม่ยังไม่มีแผน ส่วนตลาดต่างประเทศ มีการส่งออกไปยังอินเดีย,มาเลเซีย,เมียร์มาร์,ลาว,อเมริกาใต้,ตะวันออกกลาง,ยุโรป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอินเดียมีอัตราการเติบโต ส่วนมาเลเซียมีการชะลอตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน

ด้านนายพิชาญ พรหมเมฆประธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค.ซี. วีล แอนด์ ไทร์ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทจะจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตยางรถยนต์จากซานตง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางล้อจากจีน เพื่อทำการผลิตยางในกลุ่มเอสยูวี และพีพีวี โดยความคืบหน้าในตอนนี้อยู่ในระหว่างการยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ ส่วนที่ตั้งของโรงงานในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแถบจังหวัดระยอง โดยเป็นการตั้งโรงงานแห่งใหม่ทั้งหมด คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 – 1,500 ล้านบาท และจะเริ่มผลิตในปี 2561 แบ่งออกเป็นผลิตเพื่อส่งออก 70% ป้อนตลาดในประเทศ 30%

M2832082 “เรายังอยู่ในขั้นตอนการยื่นเรื่องบางส่วนเพื่อขอรับการส่งเสริมฯ ส่วนการจะผลิตแบรนด์ไหน หรือ การลงทุนจะเป็นแบบจอยท์เวนเจอร์ หรือลงทุนใหม่ทั้งหมด ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ โดยก่อนหน้านั้นบริษัทฯมีการจับมือกับพันธมิตรจากจีนอยู่แล้ว ในการนำเข้ายาง TRI-ACE เข้ามาจำหน่ายและเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ”

ด้านนายสุวิชา วงศาริยวานิช รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดีสโตน ผู้ผลิตและจำหน่ายยางแบรนด์ ดีสโตน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดยางในไทยถือว่ามีการแข่งขันสูง โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มยางรถยนต์นั่ง ที่มีการทำตลาดผ่านแคมเปญ-กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆส่วนยางรถจักรยานยนต์แม้จะแข่งขันไม่รุนแรงเท่ายางรถยนต์ แต่ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างมีความสำคัญ ขณะที่กลุ่มยางรถบรรทุก ถือเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตจากจีนเข้ามาเล่นเป็นจำนวนมาก และมีการแข่งขันผ่านกลยุทธ์ราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ประเทศอื่นๆ

สำหรับแผนการของดีสโตน จะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ ล่าสุดได้เปิดตัวรุ่น Premium Tourer RA01 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ใช้รถยนต์นั่งในกลุ่มฮอนด้า แอคคอร์ด ,โตโยต้า คัมรี่,นิสสัน เทียน่า และรถเพื่อครอบครัว สนนราคาเริ่มต้นถูกกว่ายางนำเข้า โดยเริ่มต้นที่ 1,670 - 2,770 บาท ขณะที่กลยุทธ์การตลาดด้านอื่นๆจะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ดีสโตนให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น นอกจากนั้นแล้วจะมีการสื่อสารทั้งช่องทางหลัก อาทิ โทรทัศน์ ,วิทยุ,สื่อเอาท์ดอร์ และการจัดกิจกรรมกับผู้ประกอบการ รวมไปถึงสื่อสารกับกลุ่มออนไลน์ที่มีการเติบโตมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559