ดีเดย์ม.ค.61‘ยุบอบต.’ วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ส.ส.

11 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับแล้ว กับการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เห็นชอบรายงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รูปแบบทั่วไป 2 ฉบับแล้ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
รวมทั้ง มติวิป สนช.และ สปท. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ให้กรรมาธิการ(กมธ.) ของสนช.และสปท.ที่เกี่ยวข้อง ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปในด้านนี้เป็นผลสำเร็จต่อไป

โดยหลังจากนี้จะนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ(คสช.) พิจารณา หากเห็นชอบจะได้เริ่มขั้นตอนเพื่อผลักดันเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ วิป 3 ฝ่ายยังได้จัดทำปฏิทินงาน หรือไทม์ไลน์ 15 ขั้น เพื่อเป็นตัวกำกับการดำเนินการแต่ละช่วง เพื่อไปสู่เป้าหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ อปท.รูปแบบใหม่พร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคม2561 หลังการเลือกตั้งใหญ่ส.ส. ที่ตามโรดแมปคสช.จะมีขึ้นในปลายปี 2560 นี้

การยกเครื่องอปท.ใหญ่ครั้งนี้ เริ่มจากที่ประชุมใหญ่สปท. เห็นชอบรายงานโครงสร้างและอำนาจหน้าที่อปท.รูปแบบทั่วไป ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น ให้ศึกษาจนมีข้อสรุปเป็นรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับเสนอ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นมีหลายฉบับ ทำให้สับสนในการบังคับใช้ เพื่อจะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นครั้งใหญ่ จึงให้ยกเลิกไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 โดยรวบรวมมาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายอปท. เพื่อให้เป็นฉบับเดียวมีมาตรฐาน

 โฉมใหม่“อบจ.-เทศบาล”

ทั้งนี้ได้กำหนดให้อปท.ใหม่มีโครงสร้างเป็น 2 รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาล ซึ่งอบจ.จะเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยงานอำนวยการสนับสนุน บูรณาการ ประสานการดำเนินงานให้กับเทศบาล เป็นการทำงานในภาพรวมของจังหวัด หรือภารกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล

สำหรับเทศบาล กำหนดให้ปรับปรุงเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ให้เป็นรูปแบบเดียวทั่วประเทศ โดยยกฐานะอบต.ให้เป็นเทศบาล และจัดลำดับชั้นเทศบาลเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามจำนวนประชากรในพื้นที่ มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น มีความเป็นอิสระ มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะของตนเอง

 ยุบอบต.ประชากรน้อยกว่า 7 พัน

รวมทั้งกำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลขนาดเล็ก มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คน เข้าด้วยกัน. หรือควบรวมกับเทศบาลอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกัน ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ประมวลกฎหมาย อปท.มีผลบังคับใช้ จะทำให้เทศบาลมีขนาดใหญ่ขึ้น แก้ไขปัญหางบประมาณไม่พอต่อการพัฒนาพื้นที่

เป็นเหตุให้ผู้บริหารอปท.ขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอบต. ต่าง ๆ ร้องว่าจะเป็นการยุบทิ้งอบต. ขณะที่ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกลบเกลื่อนว่า ยังเป็นเพียงข้อเสนอหรือแนวคิด อีกทั้งใครที่ราษฎรศรัทธาก็ต้องได้รับการสนับสนุน

หาก พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชอบแนวทางปฏิรูปท้องถิ่น โดยเลือกแนวทางการควบรวมอปท.อย่างที่สปท.เสนอ และเดินหน้าตามไทม์ไลน์ 15 ขั้นตอน ก็จะมอบให้นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณา และเสนอเข้าครม.ในต้นปี 2560

เมื่อครม.เห็นชอบในหลักการ จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นเพื่อปรับแก้อีกครั้ง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว ให้ครม.เห็นชอบอีกครั้งภายในเดือนมิถุนายน2560 ก่อนส่งให้สนช.บรรจุเข้าวาระพิจารณา ตามขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติ

 เลือกผู้บริหารท้องถิ่นหลังส.ส.

คาดว่าสนช.ใช้เวลา 3 เดือนพิจารณาเสร็จ (ส.ค. 2560) แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้ภายในตุลาคม 2560

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการควบรวม อปท.ทั่วประเทศ ที่กระทรวงมหาดไทยต้องเป็นเจ้าภาพดำเนินการ จนแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2561 และจัดการเลือกตั้งผู้บริหารอปท.โฉมใหม่ทั่วประเทศได้ในเดือนมีนาคม 2561

ขณะที่หากเทียบเคียงโรดแมปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ย้ำความมั่นใจว่ายังเป็นตามกำหนดเดิม

โดยจะทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน นี้ และเชื่อมั่นว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ในราวเดือนธันวาคม 2559

ระหว่างนี้ กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาทิ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ควบคู่กันไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และ สนช.พิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า

พร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 ไล่เลี่ยกันจะได้ ส.ว.ด้วย

ช่วงฟอร์มรัฐบาลและจัดองคาพยพรัฐบาลชุดใหม่ ก็จัดเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ ในราวมีนาคม 2561 ตามเป้าหมายที่ปักธงในไทม์ไลน์ดังกล่าว ท่ามกลางการเฝ้าลุ้นความชัดเจนของผู้บริหาร อปท.และนักการเมืองท้องถิ่น ที่นับแต่มี คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้สั่งงดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระไว้ทั้งหมด แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความสามารถตั้งเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ต่อมาได้คลายแรงกดดันโดยยอมให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระ ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

หากสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นไปตามไทม์ไลน์ที่ว่า ต้นปี 2561 หลังการเลือกตั้งระดับชาติเสร็จก่อนแล้ว ก็จะถึงเวลาเปิดเวทีให้นักการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศลงสนามต่อ อาศัยจังหวะที่การเมืองระดับชาติยังชุลมุนไม่พร้อมจะทุ่มวางฐานในการเมืองท้องถิ่น

หวังปรุงโฉมใหม่ของทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นรับรัฐธรรมนูญใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559