ห่วงไทยปรับตัวไม่ทัน”กระแสเศรษฐกิจใหม่”

08 พ.ย. 2559 | 02:09 น.
ห่วงไทยปรับตัวไม่ทันกระแสเศรษฐกิจใหม่  “ก้องเกียรติ “จี้รัฐต้องทำตัวเป็นโครงกระดูกสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศพัฒนาระบบฐานข้อมูล ,กฏหมาย ,ดึงเอสเอสอีอยู่ระบบฐานบัญชีเดี่ยว แนะเอกชนเปิดใจท้าทายส่งธุรกิจสู่รุ่นใหม่  “ ดร.สมชาย “ มองไทยยังมีแก๊ปปัญหาการปรับตัวรองรับผลกระทบ จากผลฟินเทค-อีคอมเมิร์ส คนตกงาน

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)ได้กล่าวในเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ ซึ่งจัดโดยสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาเกษตรศาสตร์  ในหัวข้อ“เจาะเศรษฐกิจกระแสใหม่ประเทศไทย 60” ว่า วันนี้เราพูดถึงประเทศไทย 4.0 ซึ่งสำหรับภาคเอกชนไทยถือว่าแข็งแกร่งขึ้นมาก สามารถหา niche market แต่ภาคราชการต่างหากที่ยังเป็น 1.0 สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลน่าจะทำได้ดีคือสามารถสร้างโครงกระดูก (Backbone ) เพื่อเป็นตัวเปลี่ยนแปลงประเทศ อาทิในเรื่องระบบ Infrastructure เช่นเรื่องของระบบฐานข้อมูล เรื่องของกฏหมายการช่วยให้เอสเอ็มอีของมาอยู่ระบบบัญชี

“  รัฐบาลต้องเป็นตัวช่วยหนุนภาคเอกชน เช่นสร้างพวกอินฟราสตรัคเจอร์ นำเทคโนโลยี่สมัยใหม่มาปรับใช้ในภาคเกษตรกร จ้างนักวิเคราะห์มาวิเคราะห์ดีมานด์-ซัพพลายการปลูกข้าวในลักษณะที่เป็นอยู่จะส่งผลระยะยาวอย่างไรหรือเรื่องการสร้างระบบระบบกฏหมายให้ดี อาทิกฏหมายร่วมทุน“เวนเจอร์ แคปปิตอล “ที่พูดกันมานานกว่า 30 ปีที่แล้ว แต่วันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ การแก้ไขกฏหมายไม่ให้เกิดความสับสนที่ทำให้ต่างชาติเอือมระอาระหว่างกฏหมายบีโอไอ กับสรรพากร  หรือเรื่องระบบบัญชี ดึงให้เอสเอ็มอีเข้าไปอยู่ในระบบ ให้รู้จักทำบัญชี เรื่องของต้นทุน “

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ควรจะทำ คือ เรื่องการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นจากการส่งต่อธุรกิจ ซึ่งรุ่นใหม่จะมีความสามารถมีความรู้ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าแม้จะต้องเจออุปสรรคเรื่องการปรับตัวการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี่รุ่นเก่า-ใหม่ หรือการทำงานระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในองค์กรเดียวกัน   นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่อยากเน้นคือผู้ประกอบการควรทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของโลกต้องค้นขวายติดตามข่าวสารให้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อนำสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้มาปรับใช้ให้ทัน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ารัฐบาลได้พูดถึงไทยแลนด์ 4.0  มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจกระแสใหม่(New Economy )  คือไทยยังปรับตัวไม่ทันในหลายๆด้านยกตัวอย่างการที่รัฐบาลผลักดัน 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก (เกษตร-อาหาร,พลังงาน,ยานยนต์,ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์)เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กล่าวคือ 1.เรายังขาดแคลนวิศวกรรมไฮเทคโนโลยี่  2.การยกระดับเป็นฟินเทคประเทศไทยเพิ่งเริ่ม แต่ที่สิงคโปรกำลังก้าวข้ามไปสู่เรื่องบล็อกเชน(Blockchain )และ 3.วันนี้เรากำลังส่งเสริมเรื่องอีคอมเมิร์ส-ฟินเทค แต่เรายังไม่เตรียมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากปัญหาคนกำลังจะตกงานตามมาจำนวนมาก

“เรื่องของ new economy เรามองไปข้างหน้าเห็น แต่จะวิ่งไปไกลแค่ไหน ผมยังมองว่าจะวิ่งได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะในที่สุด  เราก็จะมี gap ช่องว่างที่ปรับไม่ทัน “