70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน6) ธรรมชาติมีชีวิต ณ ชายแดนใต้

07 พ.ย. 2559 | 07:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาท ฉบับนี้ Take a trip ขอนำเสนอทริปเส้นทางใน 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น 3 เส้นทางจาก 10 เส้นทางในภาคใต้ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เชิญชวนให้คุณได้ตามรอยโครงการต่างๆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน

[caption id="attachment_111757" align="aligncenter" width="387"] • “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” • “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”[/caption]

ด้วยภูมิประเทศของจังหวัดนราธิวาส จังหวัดชายแดนใต้สุดของประเทศไทย มีลักษณะพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้มีน้ำขังตลอดทั้งปี หรือที่เรียกว่า ดินพรุ ซึ่งเป็นดินคุณภาพต่ำไม่เหมาะแก่การปลูกพืชทำการเกษตร เนื่องจากในดินมีกรดกำมะถัน ทำให้ดินเปรี้ยว จากปัญหาดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการแกล้งดิน โดยตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อปี 2525 อันเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว
ณ ที่แห่งนี้ คุณจะได้เรียนรู้การพัฒนาที่ดินพรุให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ การได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ และศึกษาวิธีการปลูกพืชผักแซมร่วมกับยางพารา ตลอดจนการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวและการเลี้ยงปลาในบ่อดินเปรี้ยว ภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

M27320703 อีกทั้งในจังหวัดนราธิวาส ยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง)” พรุโต๊ะแดงป่าเดียวน้ำเดียวในแดนดินก็ว่าได้ เพราะที่แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นป่าพรุสุดท้ายของเมืองไทย เป็นป่าไม้ผลัดใบที่ก่อเกิดในพื้นที่แอ่งน้ำจืดที่ขังติดต่อกันมานานนับหมื่นปี จนสร้างระบบนิเวศของป่าพรุได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อต้นไม้แต่ละต้น เติบโตขึ้นจากดินอินทรีย์ ที่เกิดจากซากพืชทับถมหลายพันป่า ต้นไม้ยืนต้นแผ่ราก กลายเป็นแหล่งพึ่งพาของสัตว์ป่าต่างๆ และนกนานาชนิด มาที่นี่จึงเป็นสวรรค์ของนักดูนก ที่คุณสามารถส่องกล้องดูนกบนหอคอย เฝ้ามองนกสวยงามและหายาก ทั้งนกตะกรุม นกกางเขนดงหางแดง นกฟินฟุท ถ้าโชคดี อาจได้พบเจอนกจับแมลงสีฟ้ามาเลเซีย ซึ่งเป็นนกที่พบได้เฉพาะที่ป่าพรุโต๊ะแดงแห่งนี้เท่านั้น ทั้งยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ลัดเลาะผ่านสะพานไม้ระยะทาง 1,200 เมตรท่ามกลางธรรมชาติเขียวชอุ่ม

สะท้อนได้ถึงความเป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่มากที่สุดในเมืองไทย ซึ่งกว้างประมาณ 8 กิโลเมตร ยาวประมาณ 28 กิโลเมตร ครอบคลุมอำเภอตากใบ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก เจาะไอร้อง และอำเภอเมืองนราธิวาส รวมพื้นที่ประมาณ 1.2 แสนไร่ แต่พื้นที่ที่สมบูรณ์นั้นมีเพียง 5 หมื่นไร่ มีสัตว์ป่ามากมาย และหลายสายพันธุ์มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยแห่งนี้ จึงก้าวเข้ามาอนุรักษ์ เพื่อให้ป่าแห่งนี้อยู่คู่กับประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

[caption id="attachment_111755" align="aligncenter" width="289"] • โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ยะลา • โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ยะลา[/caption]

ปิดทริปเส้นทางตามรอยพระบาท ในพื้นที่ชายแดนใต้กันที่ จังหวัดยะลา ด้วย “โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งก่อตั้งตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดยะลา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ทำให้พื้นที่บ้านปิยะมิตร ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเสมือนแอ่งกระทะ โอบล้อมด้วยภูเขาเคล้าสายหมอก ทำให้มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ถูกเนรมิตเป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้เมืองหนาวประจำภาคใต้ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา

ซึ่งที่นี่มีห้องพักให้คุณได้ใช้เวลาในการอิ่มเอมใจกับการได้เรียนรู้ ศึกษาและพัฒนาการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น เบญจมาศ เยอบีร่า หน้าวัว ไฮเดรนเยีย ที่เบ่งบานชูช่อสวยงาม และได้ตื่นเช้ามาสัมผัสไอหมอกท่ามกลางสวนสวย ที่นี่คุณจะหายสงสัยว่าภาคใต้ ก็สามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559