พยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางภูมิปัญญาของสยามประเทศ

05 พ.ย. 2559 | 11:00 น.
หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน “พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระกฐิน” โดยกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค คงจะเกิดมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้...

“กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” คือศิลปะนาวาสถาปัตยกรรมบนผืนน้ำที่งดงามที่สุด สะท้อนจิตวิญญาณคนไทยตลอดหลายแผ่นดินที่ผ่านมาว่าอารยธรรมของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นรุ่งโรจน์และสว่างเรืองรองเพียงไร มิเพียงเท่านั้นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคยังได้ผูกเอาศิลปะแขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ทั้งด้านการศึก วิจิตศิลป์ ประณีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ รวมถึง ด้านคีตศิลป์ และกวีศิลป์ สมกับการเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของคนไทยที่สง่างามที่สุดในปัจจุบัน

เมื่อมองย้อนไปในอดีต ณ จุดเริ่มต้นเส้นทางเศรษฐกิจการค้าและการก่อตัวราชอาณาจักรจนเป็นคนไทยในปัจจุบัน เมืองที่ตั้งอยู่ ณ ชัยภูมิสำคัญของแม่น้ำสายหลักคือเมืองที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เกิดเป็นอาณาจักรที่ส่งต่อความเจริญรุ่งเรือนับร้อย นับพันปี ชนชาติไทยจึงมีความผูกพันธ์กับสายน้ำอย่างแน่นแฟ้นและยาวนาน เพราะแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ภาพที่เห็นเด่นชัดคือในสมัยกรุงศรีอยุธยาฯ เป็นราชธานี เรือน้อยใหญ่แหวกว่ายพร้อมกับเสียงไม้พายกระทบผิวน้ำดังอยู่ไม่ขาด ท่าเรือซึ่งเต็มไปด้วยเรือพาณิชย์ของต่างชาติ นำเอาการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนทางการค้า และโลกใหม่เข้ามายังดินแดนที่เต็มไปด้วยอารยะแห่งนี้ นอกจากแม่น้ำจะเป็นช่องทางการค้าขาย และเป็นเส้นทางสายหลักของพาหนะอย่าง “เรือ” ของคนในยุคสมัยนั้นๆ แล้ว การปกป้องอธิปไตยความเป็นไทยจากทางน้ำก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง ดังเช่นปรากฏเป็นหลักฐานการสร้างเรือรบมากมายในราชธานีหลวงของไทยที่ผ่านมา นับได้ว่ากระบวนเรือนั้นได้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่อดีต โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการนำมาใช้เพื่อให้สอดรับกับเหตุการณ์สำคัญของประเทศ ตลอดจนสืนสานประเพณีอันดีงามที่นำเอาศาสตร์และศิลป์จากความเป็นไทยมาถ่ายทอดอย่างภาคภูมิใจบนสายน้ำของแผ่นดินที่ได้ชื่อว่า “สุวรรณภูมิ”

ธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อกันมา การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นเสด็จพระราชดำเนินทางบกเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค” และทางน้ำเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่จำต้องมีระเบียบแบบแผน การจัดรูปแบบและการเตรียมขบวนที่สมบูรณ์แบบอันแวดล้อมไปด้วยไพร่พล ขุนนาง ข้าราชบริพาร เพื่อถวายการอารักขาและนัยยะสำคัญคือการสำแดงแสนยานุภาพและบุญญาบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์

สำหรับการการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ หรือกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค นั้นหมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธี อาทิ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง การราชพิธีที่เป็นพระราชกรณียกิจ สำคัญทั้งด้านพระศาสนา การฑูต และการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของบ้านเมือง ตลอดจน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ

กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค มาจากการจัด “กระบวนทัพเรือ” ในยามที่เมืองว่างเว้นจากการศึก ซึ่งเรือต่างๆในกระบวนนั้นจะได้รับการตกแต่งและออกแบบด้วยศิลปะไทยอันงดงาม โดยปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพระยาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ด้วยการจัดกระบวนเรือรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีรัตนลังกาทีปมหาสามี พระนัดดาในพ่อขุนผาเมืองที่ได้ไป บวชเรียนที่ลังกากลับคืนกรุงสุโขทัย และต่อมากระบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้ถูกนำมาใช้ตามราชประเพณีอย่างต่อเนื่อง โดยภาพที่เด่นชัดคือในสมัยกรุงศรีอยุธยาฯ เป็นราชธานี เนื่องด้วยชัยภูมิเมืองที่เป็นเกาะอันล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำใหญ่หลายสาย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องพึ่งน้ำเป็นหลักจนเกิดเป็นความผูกพัน อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่การคมนาคม กระบวนเรือยังนำมาใช้ในการศึกยามบ้านเมืองถูกรุกราน ตลอดจนเป็นเส้นทางสร้างรายได้ด้านการค้าขายอย่างร่ำรวยในสมัยพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็นยุคทองของสยามประเทศและที่สำคัญมีการจัดริ้วกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับการชื่นชมของชาวตะวันตกในยุคนั้น

นอกจากนั้นบาทหลวงตาชาร์ด ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม” เกี่ยวกับกระบวนเรือที่ไปรับพระราชสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการว่า “มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่ 4 ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง 80 คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน 2 ลำแรก นั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้านํ้าปิดทองทั้งลำเมื่อเห็นมาแต่ไกลในลำนํ้าคล้ายกับมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ 2 นาย มาในเรือทั้ง 2 ลำเพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไปลอยลำอยู่กลางแม่นํ้าเป็นการแสดงความเคารพ ต่อเรือบัลลังก์หลวงและเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น” พร้อมกันนี้บาทหลวงตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการในวันที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาอีกว่า “ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบ เรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง 150 ลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่นํ้าแลไปได้สุดสายตาอันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงแห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของสยาม อันคล้ายจะรุกไล่ประกบข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่นํ้า ซึ่งมีประชาชน พลเมืองล้นหล้าฟ้ามืดมาคอยชมขบวน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559