เคียงพระบารมีบุญพระกฐิน สุดเกรียงไกรในสายชล

06 พ.ย. 2559 | 01:00 น.
เมื่อพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมจาก “ตำราภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” หนังสือสมุดไทยขาวเขียนด้วยเส้นรงค์(ตัวอักษรเส้นหลายสีผสมกัน) ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับการคัดลอกมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดหลวงที่ปรากฏการสร้างในปี 2224 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพเขียนตัวจริงนั้นถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้ว ฉบับที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันปรากฎว่าในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ โดยการนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดฯ ให้มีการจำลองเป็นสมุดไทยจากต้นฉบับของหม่อมเจ้าปียภักดีนารถมาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อนำไปอนุรักษ์ไว้ในหอสมุดพระนคร ภายในเล่มดังกล่าวแสดงภาพการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ งดงามตระการตา และสมบูรณ์แบบที่สุดทำให้ชนรุ่นหลังทราบถึงชื่อเรือพระราชพิธีที่ไพเราะ สอดรับกับตำแหน่งของเรือในกระบวน และตำแหน่งของม้าแซงชายฝั่งที่ขนาบข้างกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค จัดได้ว่าเป็นริ้วกระบวนใหญ่ที่แสดงถึงความมั่งคั่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

M30320702 กระบวนเรือในตำรานั้นกอปรด้วยเรือทั้งสิ้น 113 ลำจัดแบ่งเป็น 5 กระบวนเรือ ได้แก่ กระบวนนอกหน้า เป็นกระบวนทหารกองนอก กระบวนในหน้า เป็นกระบวนรักษาพระองค์ กระบวนเรือพระราชยาน เป็นเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ กระบวนในหลังและกระบวนนอกหลัง เป็นกระบวนทหารกองนอก โดยแต่ละกระบวนนั้นประกอบด้วยเรือหลายลำกำหนดให้เรือพระที่นั่งอยู่ในสายกลาง หรือสายพระราชยาน มีริ้วสายคู่ในขนาบซ้ายขวาของเรือพระที่นั่ง เรียกว่า ริ้วเรือเห่ถัดออกมาเป็นสายคู่นอก ซ้าย-ขวาเรียกว่า ริ้วเรือกัน โดยมี ม้าแซง เดินบนตลิ่งในระยะกระบวนเรือพระที่นั่งข้างละ 20 ม้า เพื่อถวายการอารักขา การวางตำแหน่งของเรือนั้นจึงขึ้นอยู่กับขนาดเรือ ความสำคัญของเรือ และผู้ที่อยู่ในกระบวนเรือ เพราะมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความงดงามตระการตาเมื่อยามเคลื่อนริ้วกระบวนอย่างสัมพันธ์กัน อันเป็นการแสดงออกซึ่งแสนยานุภาพ และพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรในยุคนั้น

อย่างไรก็ตามเรือพระที่นั่งที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามิได้ปรากฎและหลงเหลือมาในแผ่นดินสมัยหลัง สันนิษฐานว่าได้มีการจมเรือไว้ที่ท้ายคู แล้วเผาทำลายเสียก่อนที่พม่าจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกดังที่ปรากฏในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่าไว้ว่า

“แต่เรือพระที่นั่งกับเรือกระบวนใหญ่น้อย เห็นจะอันตรายไปเสียก่อนกรุงแตกมาก ด้วยเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญา ยกทัพเข้าตีกรุงในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์นั้น ทรงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งกิ่ง, ไชย, ศรี,กราบ และเรือดั้ง เรือกัน เรือศีรษะสัตว์ทั้งหลายใหญ่น้อย กับทั้งกำปั่น และเรือรบ ลงไปไว้ที่ท้ายคู พม่ายกลงไปตีท้ายคูแตก แล้วเผาเรือพระที่นั่งกับกำปั่นและเรือรบเสีย เข้าใจว่า จะเหลืออยู่ไม่กี่ลำ...”

ปัจจุบันคงปรากฏโขนเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่หนึ่งโขน คือ โขนเรือพระครุฑพ่าห์ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  M30320704 สืบศิลป์ ต่อศาสตร์ ริ้วกระบวนพยุหยาตรา สู่ความเกรียงไกรบนผืนนํ้าแผ่นดินรัตนโกสินทร์

หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงโปรดให้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีกระบวนพยุหหยาตราทางชลมารคขึ้นมาอีกครั้งและจัดทำตำรากระบวนเสด็จฯ ชื่อ “ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนัก”บันทึกเรื่องราวและความเป็นมาของพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ยิ่งไปกว่านั้นในสมัยกรุงธนบุรีของพระองค์มีการจัดกระบวนเรืออันยิ่งใหญ่ เมื่อคราวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปอันเชิญพระแก้วมรกตจากท่าเจ้าสนุกลงมา ณ เมืองธนบุรี โดยกระบวนเรือในครั้งนั้นมีมากถึง 246 ลำ

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง(หนู) รวบรวมรายชื่อและวิธีการจัดกระบวนเรือ ตามแบบประเพณีในสมัยอยุธยามาแต่งคำประพันธ์ ชื่อ “ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง” อีกทั้งพร้อมสร้าง เรือพระที่นั่งขึ้นมาใหม่อีกประมาณ 67 ลำต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น การเสด็จเลียบพระนคร เพื่อพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ให้เท่าทันต่ออิทธิพลชาติตะวันตกในสมัยนั้น นอกเหนือจากพระราชประเพณี จึงอาจกล่าวได้ว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในพระราชพิธี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้จะมีการจัดกองทัพอย่างตะวันตก แต่ยังพบว่าได้มีการสืบสานธรรมเนียมการใช้ เรือรบแบบโบราณไว้ดังปรากฏเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปปราบฮ่อใน พ.ศ. 2418 ครั้งนั้นได้มีการเคลื่อนทัพ ด้วยกระบวนเรือรบแบบโบราณ เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ เสมือนการตัดไม้ข่มนามโดยให้แม่ทัพนั่งเรือที่ชื่อ กระบี่ปราบมารเข้ารับพระราชทานนํ้าสังข์ พร้อมพระราชทานเจิม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงชำระรูปการจัดกระบวนเรือขึ้นมาใหม่ และในสมัยนั้นเองมีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นกว่าทศวรรษการจัดกระบวนเรือดังกล่าวได้ว่างเว้นการจัดพระราชพิธี จนกระทั่งใน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

จากนั้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ทรงจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องด้วยพระองค์ทรงใส่ใจในเรื่องพระศาสนา และคงไว้ซึ่งพระราชประเพณีอันงดงามของมรดกไทยสืบต่อมา ไม่เพียงเท่านั้นใน พ.ศ. 2546 กระบวนเรือพระราชพิธี ได้จัดต้อนรับคณะทูตที่เข้าร่วมประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ตลอดจนใน พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

พระราชพิธีประเพณีเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้ประกอบมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบทอดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีได้รับการสืบสานมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์อย่างงามสง่า อันเป็นการธำรงไว้ ซึ่งเอกลักษณ์มรดก ศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของความเป็นอารยชาติอันเจริญงอกงามจวบจนถึงปัจจุบันอย่างภาคภูมิใจ

M30320703  พระราชพิธีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญด้านพระพุทธศาสนา เพื่อธำรงวงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ เอกราชประเพณี ศิลปะ และมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของสยามประเทศ ซึ่งใช้เวลาบ่มเพาะมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ควรค่าแก่การจารึกไว้ในจิตสำนึกของอนุชนรุ่นหลังตราบนานเท่านานต่อไป

“...พระพุทธศาสนา แสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไร เพียงใด ก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น...”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาก่อนแล้ว ต่อมาได้ทรงผนวชและทรงศึกษาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง หลังจากทรงลาผนวช พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่ดี ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาในทุกด้าน อาทิ บูรณปฏิสังขรณ์วัดและอารามต่างๆ อย่างเช่น วัดพระพุทธศรีรัตนศาสดาราม ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดรายการธรรมะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทางสถานีวิทยุ อ.ส.เพื่อเผยแพร่ศีลธรรมอันเป็นช่องทางสู่การน้อมนำไปปฏิบัติของพสกนิกร ทั้งนี้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระพุทธรูปปางมารวิชัยขึ้น เรียกว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลทั้งนี้ทรงเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น วันมาฆบูชา พระราชพิธีวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า รวมทั้งการพระราชทานพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นประจำในทุกปี ซึ่งการถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลกฐินของประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในไทย และอาจประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มาปรากฏชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญเทศกาลกฐินในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 ใจความว่า

“... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบงคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ....”

ซึ่งความตอนดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวพุทธในประเทศไทยที่ได้ร่วมใจกันสืบทอดประเพณีนี้มาจนปัจจุบัน สอดรับกับสารานุกรมภาษาอังกฤษชื่อ Britannicaได้กล่าวไว้ว่า

“การที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “พระมหากษัตริย์ไทย” และ “คณะสงฆ์ไทย” อย่างใกล้ชิด เราชาวพุทธทุกคนทราบกันดีว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็น “พุทธมามกะ” มาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเอาไว้ยาวนานมาก คือทรงเป็นองค์พุทธมามกะมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และทรงเป็นมาอย่างนั้นตลอดทุกพระองค์ ตลอดทุกยุคทุกสมัย”

การถวายกฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 คํ่า เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 12ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามฐานะของวัดที่ได้รับพระราชทาน อันประกอบด้วย1.พระกฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯไปถวายด้วยพระองค์เองหรือจะเป็นการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์หรือองคมนตรีนำไปถวายให้แก่อารามหลวง2.กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระราชทานให้กับกระทรวง ทบวง กรม องค์กร สมาคมหรือเอกชนนำไปถวายพระสงฆ์ แก่พระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร และ 3.กฐินต้น หรือกฐินส่วนพระองค์หรือพระกฐินที่เสด็จฯโดยพระองค์เองเพื่อไปถวายแก่วดั ราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์เอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระองค์ทรงให้ความสำคัญในการสืบสานพระราชประเพณีจึงได้ดำริและทรงจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2502 โดยในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้วจำนวน 17 ครั้ง ดังปรากฏดังนี้

ครั้งที่ 1 กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ 14 พฤษภาคมพ.ศ. 2500

ครั้งที่ 2 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502

ครั้งที่ 3 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504

ครั้งที่ 4 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505

ครั้งที่ 5 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2507

ครั้งที่ 6 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2508

ครั้งที่ 7 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510

ครั้งที่ 8 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปีเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์เจ้า เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2525

ครั้งที่ 9 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2525

ครั้งที่ 10 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525

ครั้งที่ 11 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2530

ครั้งที่ 12 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

ครั้งที่ 13 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

ครั้งที่ 14 ขบวนเรือพระราชพิธี การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก 2003 เมื่อ 20 ตุลาคมพ.ศ. 2546 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มิได้เสด็จฯโดยกระบวนเรือ)

ครั้งที่ 15 ขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯมิได้เสด็จฯโดยกระบวนเรือ)

ครั้งที่ 16 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ครั้งที่ 17 กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา (7 รอบ) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

สำหรับวัดที่ได้รับกฐินหลวงในปัจจุบันมี 16 วัด ประกอบด้วย ในกรุงเทพมหานคร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชโอรสารามราชวรวิหารวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชาธิวาสราชวรวิหารวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหารวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร และในต่างจังหวัดวัดพระปฐมเจดีย์วัดสุวรรณดารารามฯ วัดนิเวศธรรมประวัติฯ และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (พิษณุโลก)

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้รับการสืบสานและสร้างสรรค์เพิ่มเติมต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินท์จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นชาติด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอย่างภาคภูมิใจซึ่งพระราชทานพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินนั้นเป็นหนึ่งแบบอย่างของการทรงงานด้านการส่งเสริมศาสนา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของพสกนิกรชาวไทย และที่สำคัญพระองค์ทรงนำหลักทศพิธราชธรรมมาบริหารจัดการกิจการบ้านเมืองจนเกิดความร่มเย็นเป็นสุขในปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559