องค์ต้นแบบ‘บุคคลเรียนรู้’ พลังสมานแผ่นดินไทย

07 พ.ย. 2559 | 02:00 น.
นอกจากพระอัจฉริยภาพอันหลากหลายที่ปรากฎตลอด 7 ทศวรรรษแห่งรัชกาล จนเป็นที่แซ่ซ้องในแง่มุมต่าง ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์แล้ว

ศ.นพ.ประเวศ วะสี เล่าว่า ประสบการณ์จากการได้เข้าเฝ้าฯ ทั้งก่อนเดินทางและหลังจบการศึกษา ในฐานะนักเรียนทุนส่วนพระองค์ ตั้งแต่เมื่อปี 2500ต่อมาโอนเป็นทุนอานันทมหิดลหลังตั้งเป็นมูลนิธิฯแล้ว และต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ในการพานักเรียนทุนอานันทมหิดลรุ่นต่างๆ เข้ารับพระราชทานพระบรมราโชวาท

“พระองค์ท่านทรงสนพระทัย ให้เวลาและทรงสั่งสอน ซักถามความรู้ในทุกแขนงวิชาอย่างลุ่มลึก ละเอียดละออ ซึ่งประทับใจตั้งแต่นั้น ในลักษณะที่อาจไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงกันนัก คือ พระองค์ทรงเป็น”บุคคลเรียนรู้” ที่ส่งผลอย่างมหาศาลในเวลาต่อมา”

ศ.นพ.ประเวศขยายความว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะทำให้มีปัญญารอบรู้สภาวะความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ บุคคลเรียนรู้ หรือ Learning Person เรียนรู้ทุกสิ่งจากทุกคน ทำให้เกิดปัญญา โดยไม่ใช้อำนาจ เพราะถ้าใช้อำนาจจะไม่เกิดการเรียนรู้ อำนาจเป็นปฎิภาคกับปัญญา ถ้าใช้อำนาจมากก็ใช้ปัญญาน้อย เพราะไม่เกิดการเรียนรู้ จึงควรถอนตัวจากอำนาจมุ่งสู่ปัญญา

พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า การชมหรือการติเตียนไม่ใช่ธรรมะ ตรงนี้แปลก การเรียนรู้คือรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร จากเรียนรู้จากทุกสิ่ง มีความรอบรู้ เป็นการเรียนรู้ซึ่งก็คือตัวปัญญา แต่การชมหรือการติเตียนนั้นตายตัว คงที่ ไม่ใช่ปัญญา คนส่วนมากชอบคิดแบบตายตัว

เหมือนกับการศึกษาไทยทุกวันนี้ ที่เรียนกันโดยการท่องจำกันทั้งประเทศ ทำให้เด็กรู้วิชา แต่ไม่รู้ความจริงที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด เป็นการศึกษาแบบตาบอดคลำช้าง รู้แยกเป็นส่วนเป็นชิ้น ทำให้ทะเลาะกันสูง ขัดแย้งกันไม่เลิกและเป็นทุกข์

สังเกตดูหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่เวลานี้มีการสู้รบ ที่เกิดสงครามกลางเมือง รบกัน ฆ่ากัน บ้านแตกสาแหรกขาด ล้วนแต่เคยเป็นประเทศที่เจริญด้วยศิลปะวิทยามาแต่ครั้งอดีต โดยที่ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงจะเกิดเหตุได้ ถ้าไม่ช่วยกันรักษา

[caption id="attachment_111794" align="aligncenter" width="457"] องค์ต้นแบบ‘บุคคลเรียนรู้’ พลังสมานแผ่นดินไทย องค์ต้นแบบ‘บุคคลเรียนรู้’ พลังสมานแผ่นดินไทย[/caption]

ศ.พน.ประเวศกล่าวย้ำว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทที่ครองราชย์มา 70 ปี ได้ช่วยสมานแผ่นดินไทยเอาไว้ เพราะตัวบุคลิกการเป็น”บุคคลเรียนรู้”

บุคคลเรียนรู้นั้นจะมีความรอบรู้ เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ หรือธรรมะ จะมีบุคลิกหรือลักษณะที่เป็นองค์คุณ 8 ประการ

1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง โดยที่บุคคลเรียนรู้นั้นจะไม่สุดโต่ง แต่เรียนรู้ตามกระแสความเป็นไป ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า คือเรียนรู้สภาพความเป็นไปที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละขณะ อันเป็นทางสายกลาง จนเข้าถึงความจริง หรือธรรมะ

2.สุทธิ เมื่อเข้าถึงความจริงแล้ว ก็มีท่าทีที่ถูกต้องต่อสิ่งต่าง ๆ ทำให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี

3.ปัญญา มีความรอบรู้ตามความเป็นจริง จะพิจารณาตัดสินใจใด ๆ ใช้เหตุผลและองค์ความรู้ตามหลักวิชาต่าง ๆ ทั้งนี้

4.เมตตา เมื่อบุคคลเรียนรู้ เข้าถึงปัญญาหรือความจริงแล้ว จะทำให้มีเมตตา

5.ขันตี ตามมาด้วยการมีความอดทนอดกลั้น ต่อสภาพความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ไม่ถูกใจ องค์คุณหัวข้อนี้แม้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ว่าเป็นเลิศในโลก ในการให้โอวาทปาฎิโมกข์แก่พุทธสาวก ที่มาชุมนุมกันในวันมาฆบูชา

6.มุ่งฐานล่าง บุคคลเรียนรู้เกิดปัญญา เห็นชัดว่าฐานล่างมีความสำคัญ พระเจดีย์จะก่อจากยอดไม่ได้ เพราะมีแต่จะพังลง ๆ ต้องเริ่มจากการทำฐานรากให้ดี ให้เข้มแข็ง พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวก็เห็นได้ชัด ว่าทรงทุ่มเทให้ราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ ทุกพื้นที่ ก็เพื่อสร้างฐานล่างให้แข็งแรง

จากนั้นถัดขึ้นมาคือ ระเบียบ กฎเกณฑ์ สถาบันทางสังคมต่าง ๆ ที่เชื่อมร้อยสังคมไว้ด้วยกัน เพื่อจะชูยอดพระเจดีย์ ให้สูงเด่นเห็นชัด ซึ่งก็คือ คุณธรรมของสังคม ความไม่โลภ

พระองค์ท่านเคยมีพระราชดำรัสในยามบ้านเมืองเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ว่า การจะออกไปกลางทะเลลึกนั้นอันตราย เราต้องถอยหลังเข้าคลอง ใครจะว่าเชยก็ช่างเขา ขอเพียงเราพออยู่พอกิน ซึ่งก็คือหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีหลักการคือ ไม่โลภ มีเหตุผลคือมีธรรมะ และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนแรกคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน แต่วันนี้เริ่มขยายตัวในชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

7.ภูมิคุ้มกัน ประเทศก็เหมือนร่างกายมนุษย์ ความสามารถที่จะรับมือความบีบคั้นหรืออันตรายจากภายนอก มีความยืดหยุ่นไม่แข็งทื่อตายตัว ซึ่งก็คือความยุติธรรม ความเป็นธรรม ระบบกฎหมาย การทำหน้าที่ สันติวิธี ซึ่งสังคมไทยเราโดดเด่นมาก และทำให้รอดจากวิกฤตความขัดแย้งมาหลายครั้ง อาทิ นโยบาย 66/2523 เปิดทางให้บุคคลที่จับอาวุธต่อสู้เจ้าหน้าที่รัฐ กลับสู่สังคมมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย การมีสัมพันธภาพที่ดีกับนานาประเทศ และ

8.จิตวิญญาณ การมีปัญญารู้ความเป็นจริง มีท่าทีที่ถูกต้องต่อความเป็นไปของสิ่งรอบตัว ดำรงตนอยู่ในความดี เป็นสังคมแห่งความสุข ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการศึกษานั้น หากกลับไปอ่านงานพระราชนิพนธ์”พระมหาชนก” ในตอนท้ายที่กล่าวว่า“นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอำมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น. ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ”

โมหภูมิ ก็คือ อวิชชา และ สถาบันอบรมสั่งสอนดังกล่าว ก็ทรงเรียกว่า “มหาวิชชาลัย” ให้ต้องขบคิดกัน
เพราะการศึกษาปัจจุบัน เราเรียนในมหาวิทยาลัย วิทยา คือ ความรู้ แต่คำว่า”วิชชา”เป็นภาษาพระ หมายถึงปัญญา จึงทรงเพ่งเล็งไปที่”ปัญญา” มิใช่เพียงแค่”ความรู้”

“เวลานี้คนไทยต่างร่วมทุกข์ รู้สึกใจหายกับความสูญเสีย คิดถึงพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่จริงแล้วพระองค์ท่านมิได้จากไปไหน ยังอยู่ในทุกอณูของแผ่นดิน ของท้องน้ำ และผืนฟ้า เมื่อมองไปเราก็จะเห็น”

สังคมไทยที่ต้องไปต่อนับจากนี้ ต้องมุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา สร้างสังคมการเรียนรู้ เปลี่ยนจากเรียนให้รู้วิชา มาเป็นปัญญา ให้เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้มีความสุขเต็มแผ่นดิน รวมทั้งเป็นตัวอย่างแก่โลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559