มั่นใจเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 แห่งเปิดโครงการได้ต้นปี 60

03 พ.ย. 2559 | 00:30 น.
กระทรวงเกษตรฯ เผยความคืบหน้าเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000 แห่ง พร้อมร่วมมือภาคเอกชน มั่นใจสามารถเปิดโครงการได้ในต้นปี 2560

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ 70,000  แห่งทั่วประเทศให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายในปี 2560 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ขณะนี้ได้มีการวางแผนเตรียมการเป็นลำดับ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการเปิดโครงการได้ในต้นปี 2560  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิตในกิจกรรมนี้ด้วย นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. จะมีการพูดคุยหารือร่วมกัน โดยจะใช้แผนงานโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วของกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก ส่วนสภาหอการค้าฯ จะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนที่ยังขาดอยู่

นายสุรพงษ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำงานในเชิงบูรณาการ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน ตลอดจนต้องการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือกเกษตรกร โดยสำรวจพื้นที่ที่เกษตรกรมีความพร้อมและมีศักยภาพ  ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินที่ไปสนับสนุนสระน้ำในไร่นาในอดีตที่ผ่านมา ประมาณ 100,000 ราย ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ไปตรวจสอบพื้นที่ที่กรมชลประทานรับผิดชอบ ที่มีเกษตรกรมีความพร้อมในเรื่องแหล่งน้ำในไร่นาตัวเองประมาณ 4,000 ราย

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้สนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำในไร่นาในพื้นที่ที่รับผิดอยู่ ซึ่งได้มีการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นรายงานว่า มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 16,000 ราย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องสมัครและไม่มีการบังคับ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อมูลเกษตรกรทั้งหมดภายในวันที่ 5 พ.ย. จากนั้นจะนำมาตรวจสอบความถูกต้อง แล้วส่งไปให้จังหวัดต่าง ๆ ตามยอดที่ตรวจสอบรับรองเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันจะส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับส่วนราชการเพื่อจัดเตรียมการสนับสนุนและดำเนินการในระยะต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสนับสนุนปัจจัยด้านการผลิตเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรนั้น ประกอบด้วย พืช ประมง และปศุสัตว์ โดยจะเข้าไปดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. ดังนี้ 1. ด้านพืช ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบร่วมกับภาคเอกชนบางส่วน 2. ด้านประมง เตรียมพันธุ์ปลา โดยขอสนับสนุนอาหารปลา/ลูกปลา จากภาคเอกชนบางส่วน และ 3. ด้านปศุสัตว์ ได้จัดเตรียมสัตว์ปีก ไก่และเป็ด ทั้งแบบเนื้อและไข่ ซึ่งขณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมการไว้แล้ว พร้อมประสานกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อขอรับการสนับสนุนได้แล้วบางส่วน และได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ติดตามรายงานเป็นระยะ รวมทั้ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะติดตามประเมินผลตามแผนที่กำหนดไว้ ต่อไป