พาณิชย์จัดทัพภูมิภาคแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

01 พ.ย. 2559 | 06:10 น.
กระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้าแนวคิดการพัฒนาพาณิชย์ภาค ให้เป็นทัพหน้าร่วมกับพาณิชย์จังหวัดอย่างใกล้ชิด สร้างความเข้มแข็งและทำเป็นมาตรการเชิงรุกในการจัดการดูแลราคาสินค้าค่าครองชีพ ผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาค และการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและทันสถานการณ์ พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้ส่วนกลางอย่างต่อเนื่องแบบปัจจุบัน

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ไปจัดทำนโยบายเชิงรุกในการกำกับดูแลเรื่องค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญที่สุด การดูแลสินค้าเกษตรและการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงได้ขานรับนโยบาย โดยได้จัดระบบโครงสร้างภายในภูมิภาคและท้องถิ่น โดยแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และที่ปรึกษาการพาณิชย์เข้าไปทำหน้าที่กำกับดูแลใน 7 ภูมิภาคในฐานะ “พาณิชย์ภาค” เข้ามาดูแลและทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อให้ดูแลใกล้ชิดประชาชนมากขึ้นและได้วางแผนลงพื้นที่ชี้แจงรายละเอียด และรับฟังปัญหาสะท้อนจากพื้นที่ เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหา และการพัฒนาร่วมกัน

การลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครั้งนี้ เป็นการเดินสายลงพื้นที่ครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานยกระดับการเชื่อมโยงการค้าภูมิภาค “พาณิชย์ภาค : Mini MOC” ไปแล้ว ในวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดอุดรธานี และมีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดสุดท้ายภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ถือเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์ภาค และเป็นจังหวัดนำร่องก่อน 3 ภาคที่เป็นพื้นที่ตัวแทนทั้งด้านสินค้าเกษตร ค่าครองชีพ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ในโอกาสลงพื้นที่นี้ได้มีการติดตามนโยบายส่งเสริมข้าวครบวงจรของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนให้มีการปลูกข้าวคุณภาพดี มีมูลค่า สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกัน และนำนวัตกรรมมาแปรรูปผลผลิต เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งจะผลักดันให้ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาททำการตลาดล่วงหน้าร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการใช้การตลาดนำการผลิต  โดยในวันนี้จะลงพื้นที่แวะติดตามศูนย์ข้าวนาแปลงใหญ่ตำบล ช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ 3,220ไร่ ซึ่งมีเกษตรกร 112รายเข้าร่วมโครงการ

การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าครั้งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการข้าวนาแปลงใหญ่ในแผนข้าวครบวงจร โดยจะเข้าไปติดตามผลสัมฤทธิ์ในการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิต ความสามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต การเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการจัดการการผลิต ผลผลิตอย่างมืออาชีพ (farmer manager)  ทั้งนี้มีแผนการลดต้นทุนการผลิตให้ลดลงจาก 4,200 บาท/ไร่ เป็น 3,500 บาท (หรือลดลง 17 %) การเพิ่มคุณภาพเข้าสู่ระบบ GAP 100 % การเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 800 กก./ไร่ เป็น 900 กก./ไร่ (หรือเพิ่มขึ้น 12.50 %) และแผนการรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด 100-200 บาท/ตัน ซึ่งจะดูว่ามีปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการหาแนวทางส่งเสริมทางด้านการตลาดต่อไปโดยจะมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลัก เน้นการทำงานในพื้นที่ได้ตรงประเด็น และดำเนินการติดต่อ ประสานงาน ตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้ และบูรณาการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงฯ มีความตั้งใจจะผลักดัน เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือผู้นำเกษตรกรมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแผนในการพัฒนาเกษตรกรของกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบ Smart Farmer    50 ราย จาก 112 ราย นอกจากนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงสีข้าวชุมชนซึ่งอยู่ภายในศูนย์เรียนรู้การเกษตรของตำบลช้างใหญ่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายใต้โครงการโมเดลนาข้าว มีกำลัง   การผลิตวันละ 3 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกในชุมชน ได้แก่ พันธ์ชัยนาท 1 และปทุมธานี   1 จุดมุ่งหมายของโรงสีชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถสีข้าวไว้ทานเอง และขายให้แก่สมาชิกของชุมชน ในอนาคตอาจ  มีการพัฒนาเพื่อขยายกำลังการผลิต และขยายออกสู่ตลาดภายนอกต่อไป

พาณิชย์ภาค จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ โดยร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดซึ่งถือเป็นผู้ดำเนินงานหลัก เน้นการทำงานในพื้นที่ได้ตรงประเด็น และดำเนินการติดต่อ ประสานงาน ตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมทำงานเชิงรุกสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้งและที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องสื่อสารโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วน ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว” นายวินิจฉัยกล่าว