ขอสานต่องาน‘พ่อ’สู่คนรุ่นหลัง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

01 พ.ย. 2559 | 13:00 น.
เป็นอีกบุคคลที่มีโอกาสใกล้ชิด และรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตสำหรับ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และวันนี้เขาปฏิญาณกับตัวเองว่า จะนำทุกคำสอนของพ่อ มาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้รับรู้

ทรงงานหนักเพื่อความสุขประชาชน

 

[caption id="attachment_110691" align="aligncenter" width="318"] จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี[/caption]

“จุตินันท์” เล่าว่า เป็นความโชคดี ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เพราะติดตามคุณพ่อ (คุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดี) ซึ่งเป็นช่างภาพประจำพระองค์ที่มักจะตามเสด็จฯเมื่อพระองค์ท่านไปทรงงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคใต้ โดยครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าคือในราวปี 2508

แม้ขณะนั้นจะยังเป็นเด็กอายุราว 8-9 ขวบแต่ก็เห็นพระองค์ทรงงานหนัก ต้องออกเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ แบบไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย และคุณแม่ (คุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี) มักจะบอกอยู่เสมอถึงการทรงงานของพระองค์ท่านที่ทุ่มเทพระวรกายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเหนื่อยหนักสักเท่าไร

จนกระทั่งเมื่อครั้งอายุได้ 15ปี มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านและได้ติดตามคุณพ่อไปที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงงานเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ผมไปอยู่ 1 สัปดาห์ เห็นพระองค์ท่านต้องออกไปทรงงานแต่เช้าตรู่และกลับคํ่าทุกวัน แบบไมรู่จั้กเหน็ดเหนื่อย ยิ่งทำ ให้เรารักเคารพท่านมาก

“ผมเชื่อว่าคนเป็นจำนวนมากไม่สามารถเสียสละเช่นพระองค์ท่านได้ ขบวนของท่านเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ 7 โมงเช้า กลับมาถึงก็ 2 ทุ่มทุกครั้ง ทุกวันที่ท่านเสด็จฯออกไปพบปะชาวบ้าน สิ่งที่เราพบเห็นคือชาวบ้านจำนวนมากมารอคอยพระองค์แบบไม่กลัวร้อน กลัวฝน ชาวบ้านมาด้วยความเต็มใจ ความจงรักภักดีบ่อยครั้งที่จะเห็นพระองค์ท่านนั่งกับพื้นเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านแบบเป็นกันเอง”

สิ่งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้จากพระองค์ท่านว่า 1. ท่านมีความสุขกับสิ่งที่ท่านทำคือ การช่วยเหลือประชาชน 2. ท่านให้ความเป็นกันเองกับประชาชนหรือที่เรียกกันว่าชาวบ้าน

 จำความสุขที่มีในวันนี้

“จุตินันท์” บอกว่า มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่เมื่อมีงานเฉลิมฉลองภายในวัง ก็จะได้เข้าร่วม และนั่นเป็นเหตุให้ได้พบกับคุณหญิงต้น หรือ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (นามสกุลเดิม กฤดากร) ภรรยา ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เพราะคุณหญิงต้นก็ติดตามท่านพ่อ และท่านแม่ (ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร และท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) เข้ามาในพระบรมมหาราชวังเช่นกัน จนที่สุดกลายเป็นความรักและตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน

ถือเป็นความประทับใจที่สุดในชีวิต คือวันที่พระองค์ท่านพระราชทานน้ำสังข์ให้ ท่านทรงสั่งสอนเราทั้งสองคนด้วยคำสั่งสอนที่ง่ายๆ คือ

“ในอนาคตเมื่อมีปัญหาอะไรให้จำวันนี้ไว้ จำความสุขที่มีวันนี้ จำความสุขที่ทำให้คนอื่นมีคือ พ่อแม่ เพราะว่าในอนาคตเราคงได้เจออุปสรรค ให้ระลึกถึงวันนี้ไว้”

อีกหนึ่งความประทับใจและอยู่ในความทรงจำเสมอเพราะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าแบบใกล้ชิด คือ หลังจากที่ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เฮลิคอปเตอร์ผู้ตามเสด็จฯตก ที่ จ.นราธิวาส พระองค์ท่านเสด็จฯมาที่บ้านพักที่หัวหินของม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ เป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงขับรถยนต์มาเอง และเมื่อท่านจะเสด็จฯกลับ เห็นคุณพ่อคุณแม่ของผมยืนชิดกัน ท่านก็ทรงถ่ายภาพด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง และยังให้คนจัดส่งมาให้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราเป็นอย่างยิ่ง

 ทรงวางตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี

“สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากพระองค์ท่านคือ สิ่งที่พระองค์ท่านทำมากกว่าความจำเป็น เพราะท่านทุ่มเทจริงๆทั้งกายและใจ แม้ช่วงที่ท่านประชวรท่านก็ยังทรงงานเพียงเพื่อสิ่งเดียวคือ คนไทยอยู่ดีมีสุข”

สิ่งที่ผมยึดถือและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องของการวางตัว พระองค์ท่านอยู่สูงส่ง แต่พระองค์ท่านก็ยังทำแบบเป็นกันเอง แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ทุกคนจะไม่ทำตามอย่างพระองค์ท่าน

อีกสิ่งที่ผมประทับใจ และปวารณากับตัวเองเลยว่าต้องทำให้ได้เช่นพระองค์ท่านคือความกตัญญู ที่แม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงงานหนักแค่ไหน แต่ท่านต้องทรงเสด็จฯไปเสวยพระกระยาหารกับสมเด็จย่าสัปดาห์ละ 5 วัน สิ่งนี้ทำให้ผมมีพลัง และถามตัวเองว่า ทำไมเราทำไม่ได้

“ท่านวางตัวให้เป็นแบบอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะนำไปใช้อย่างไร” จุตินันท์ยังบอกว่า หากเป็นไปได้อยากให้คนไทยนำมาใช้ให้ได้มากที่สุด

 หัวเลี้ยวหัวต่อ “ประเทศไทย”

“จุตินันท์” บอกว่า ประเทศไทยผ่านช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อ และทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดีและมีวันนี้ได้ก็เพราะ “ในหลวง”
ช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ ที่ทุกคนคุ้นเคยคือ ช่วงคอมมิวนิสต์ ต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นพื้นที่สีชมพูในประเทศไทยมีมาก มีในทุกภูมิภาค ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจเข้าใจยากว่ามีความเสี่ยงมากแค่ไหน แต่พระองค์ท่านทำทุกอย่างจนสามารถเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนหลุดพ้นจากคำว่า “คอมมิวนิสต์” และก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อีกช่วงคือ “พฤษภาทมิฬ” เหตุการณ์ความขัดแย้งที่กำลังจะนองเลือด ทุกอย่างยุติลงอย่างรวดเร็ว เพื่อพ่อออกมาบอกให้ “จบ” ถือเป็นการย้ำเตือนว่า ทุกคำของพ่อมีความหมาย เป็นศูนย์รวมของคนไทยทั้งประเทศ

วันนี้มีโครงการในพระราชดำริอีกจำนวนมาก ที่จะต้องถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแก้มลิง การบริหารจัดการนํ้า อื่นๆ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยมากที่พระองค์ท่านทรงตรากตรำพระวรกายมาตลอด 70 ปีวันนี้ผมบอกกับตัวเองว่า เรายังทำอะไรได้อีกเยอะ ยังมีอีกหลายโครงการที่เราสามารถสานต่อให้กับพ่อได้ เราสามารถถ่ายทอดผ่านสื่อได้ ท่านเป็นอัจฉริยะในทุกๆด้าน สิ่งเหล่านี้เราต้องสืบสานและบอกต่อไปยังลูกหลานให้เขาได้รับรู้และภาคภูมิใจที่ยืนอยู่บนแผ่นดินไทยแผ่นดินที่พ่อสร้างขึ้นจากหยาดเหงื่อและแรงใจ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559