สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนสัปดาห์นี้

28 ต.ค. 2559 | 12:00 น.
“เงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ”

Foreign Exchange Market

เงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะกลับมาทยอยอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมามีสถานะขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย ขณะที่ การอ่อนค่าของเงินหยวน และการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะที่เหลือของปี ก็กดดันสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน

keoc28-a-1 สำหรับในวันศุกร์ (28 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (21 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค.-4 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของนักลงทุนน่าจะอยู่ที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนต.ค. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index รวมถึงรายจ่ายด้านการก่อสร้าง และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทยและยูโรโซน และดัชนี PMI เดือนต.ค. ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

Stock Market

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,494.44 จุด ลดลง 0.40% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 9.02% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 50,282.60 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 575.93 จุด เพิ่มขึ้น 1.81% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร ตอบรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาค่อนข้างดีในไตรมาส 3/2559 ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 1-2 พ.ย. นี้                        \

keoc28-a-2 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค.- 4 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480  และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,520 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการประชุมเฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิต และยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย