กรมควบคุมโรคจัดเจ้าหน้าที่ 3 ทีมเฝ้าระวังโรคดูแลปชช.รอบสนามหลวง

28 ต.ค. 2559 | 08:57 น.
กรมควบคุมโรค จัดเจ้าหน้าที่วันละ 3 ทีมเฝ้าระวังโรค พร้อมสั่งการให้ สคร.ทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ

วันนี้ (28 ตุลาคม 2559) ที่บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่เพื่อจัดระบบเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนผู้มาร่วมกิจกรรมพิธีถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รวมถึงการรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อสำคัญในช่วงปลายฝนต้นหนาวร่วมกับจุดบริการรักษาพยาบาลรอบบริเวณสนามหลวง เพื่อให้ความรู้คำแนะนำเรื่องการป้องกันโรค แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ รวมกว่าหนึ่งหมื่นชิ้น พร้อมมอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สป.คม.) กรมควบคุมโรค จัดอุปกรณ์ป้องกันโรคพร้อมทีมประจำในพื้นที่ทุกวันกระจายทั่วท้องสนามหลวงวันละ 3 ทีม ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการเฝ้าระวังแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เฝ้าระวังอาหารและน้ำตามจุดแจกจ่ายต่างๆ พร้อมทั้งดูแลการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม  นอกจากนี้ ยังได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ความรู้ แจกแผ่นพับ และคำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนแต่ละจังหวัดในการป้องกันควบคุมโรคที่สถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดปล่อยรถโดยสารที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ

กรมควบคุมโรค ขอแนะนําการดูแลสุขภาพสําหรับประชาชน ในกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากภายในพื้นที่จํากัด เพื่อลดการเจ็บป่วยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยโรคติดต่อและภัยสุขภาพที่ควรระวังในช่วงนี้ ได้แก่ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ติดต่อได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันแออัด 2.โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ที่มากับอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด เช่น โรคอาหารเป็นพิษ 3.โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 4.ภัยสุขภาพอันเนื่องมาจากอากาศร้อน เช่น ฮีทสโตรก ซึ่งข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2559 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 130,332 ราย เสียชีวิต 30 ราย โรคอาหารเป็นพิษพบผู้ป่วย 105,632 ราย  เสียชีวิต 1 ราย โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วย 50,856 ราย เสียชีวิต 44 ราย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 79 ราย ใน 17 จังหวัด พบผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 587 ราย และภัยสุขภาพอันเนื่องมาจากอากาศร้อน ในช่วงปี 2559 มีรายงานผู้ป่วย 21 ราย

ในช่วงนี้มีอากาศแปรปรวน และเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดูกาลซึ่งเป็นช่วงที่จะมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงกว่าช่วงอื่นๆเป็นประจำทุกปี ประกอบกับโรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากการไอ จามรดกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่มีการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่หากจําเป็นต้องเข้าร่วมงานที่มีคนจำนวนมากให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่หากป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน สำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ หากมีอาการไอ จาม ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าปิดปากปิดจมูก

สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ ในช่วงกลางวันที่มีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหารสูง ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด  ส่วนการป้องกันโรคจากยุงลาย คือ การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ หากประชาชนต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด หรือต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อาจเกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะฮีทสโตรกซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้จากผลของสภาพอากาศที่ร้อน ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ควรเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย โดยสิ่งที่ควรมีติดตัวคือ ร่ม พัด และน้ำดื่ม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน และหากเกิดอาการเจ็บป่วย ขอให้พบแพทย์ทันทีหรือโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 หากสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422