70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน4) วิถีเศรษฐกิจพอเพียง แดนอีสาน

02 พ.ย. 2559 | 05:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาท ฉบับนี้ Take a trip จะเปิดทริปเส้นทางในภาคอีสาน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แนะนำ 10 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

ความโดดเด่นของอีสาน ไม่เพียงการขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก และตัวอย่างกระตูกไดโนเสาร์ชิ้นจริงที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้เก็บรักษาอยู่ที่นี่ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” จ.กาฬสินธุ์ จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยความรู้ที่สนุกสนานในโลกดึกดำบรรพ์ และการนำลูกเล่นอย่างอินโฟกราฟิกที่สวยงามและเข้าใจง่าย ร้อยเรียงเรื่องราวทางด้านธรณีวิทยาภายในนิทรรศการถาวร

[caption id="attachment_110751" align="aligncenter" width="503"] • หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง • หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง[/caption]

อีกความโดดเด่นของจ.กาฬสินธุ์ คือ ผ้าทอแพรวา ที่ทอด้วยไหมทั้งผืน มีลวดลายเอกลักษณ์ 3 ส่วน คือ ลายหลัก ลายคั่นและลายช่อเชิงปลาย “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา บ้านโพน” ในอ.คำม่วงซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามถิ่นกำเนิดผ้าไหมแพรวา หรือแพรวาราชินีแห่งไหม โดยมีที่มาจากลวดลายพิเศษ ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 60 ลาย สร้างอาชีพของชาวโพน ให้คงอยู่คู่วัฒนธรรมไทยจนถึงทุกวันนี้

การเดินตามรอยเท้าพ่อดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่คุณพบได้ ณ “ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่ายสุรนารี” จ.นครราชสีมา ซึ่งมีสวนน้ำบุ่งตาหลั่วเป็นแหล่งการเรียนรู้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมการประมง ฐานเพาะเห็ดนางฟ้า และผักปลอดสารพิษ ให้ได้ซื้อกลับบ้าน ส่วนที่อยากใช้เวลาเรียนรู้เต็มๆ ที่นี่ก็มีที่พักไว้บริการด้วย

ทั้งที่เมืองย่าโม ยังมี “ศูนย์ส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษตามโครงการพระราชดำริ” ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2541เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในอ.วังน้ำเขียว ที่ทราบผลกระทบการใช้สารเคมีทำการเกษตร จึงตั้งตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอันเนื่องในพระราชดำริ ปัจจุบันมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่เขตอ.วังน้ำเขียว สีคิ้ว ขามทะเลสอ และครบุรี ที่นี่คุณจะสัมผัสได้ถึงวิถีแห่งออร์แกนิก ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์

[caption id="attachment_110753" align="aligncenter" width="503"] • พิพิธภัณฑ์สิรินธร • พิพิธภัณฑ์สิรินธร[/caption]

หากกล่าวถึงบึงน้ำ ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้บึงน้ำแห่งไหน และมีน้ำตลอดปี นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศต้องมีชื่อ“บึงโขงหลง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงมีพระราชดำริกับอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจ.หนองคาย ให้วางโครงการพัฒนาบึงโขงหลง เพื่อนำน้ำจากบึงนี้ไปพัฒนาการเกษตร จนเป็นที่มาของ“โครงการชลประทาน อ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง”จ.บึงกาฬ ที่สร้างเสร็จในปี2523 ที่นี่จึงมีชื่อเรียกคุ้นหูว่าทะเลอีสาน และเป็นแหล่งล่องแพและส่องนกที่ขึ้นชื่อ

ด้วยความที่จ.เลยมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ไม่เพียงเหมาะกับการท่องเที่ยวรับลมหนาวเท่านั้น ยังเหมาะสำหรับการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งจากพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมในอดีต ถูกพลิกโฉมมาเป็นสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ เพื่อดำเนินการปลูกเมล็ดพันธุ์และทดลองพันธุ์พืชต่างๆที่เหมาะกับพื้นที่ อาทิ ท้อ พลับ เกาลัดจีน สตรอเบอร์รี่และแมคคาเดเมีย และมีการต่อยอดการพัฒนาขึ้นมา “ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย” (ภูเรือ) ซึ่งมีทั้งผลไม้และดอกไม้เมืองหนาวให้ชมกันละลานตา

“ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม”จ.สกลนคร เกิดจากชาวบ้าน ร้องทุกข์ว่าฤดูฝนน้ำท่วมฤดูแล้งน้ำแห้งเหือด ทำการเกษตรไม่ได้ ต้องอพยพไปรับจ้างในจ.อื่น และด้วยความเป็นปึกแผ่นของชุมชนที่ได้จัดตั้งโครงการไทยอาสาป้องกันชาติ(ทสปช.)ต่อสู้ป้องกันกลุ่มก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จากความสามัคคีทำให้เกิดโครงการป่ารักน้ำบ้านกุดนาขามมีอ่างเก็บน้ำขึ้นที่ห้วยนกเค้า ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงร.9 และที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ และเป็นโรงงานผลิตเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผาแหล่งสำคัญรวมทั้งในจ.สกลนคร ก็มี “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน” แหล่งสร้างงานและพื้นฐานอาชีพให้ชาวภูพาน มีจุดเด่น 3 ดำ คือวัวดำ ไก่ดำ และหมูดำ เป็นสายพันธุ์โดดเด่นสร้างรายได้ ให้ชุมชน

ปิดทริปเส้นทางตามรอยพระบาทที่จ.สุรินทร์ กับการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ ที่ชาวเมืองได้รวบรวมและมอบให้เป็นสมบัติชาติ ความสำคัญของอาชีพควาญช้าง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์”ไม่เพียงรวมศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีการจัดแสดงที่ทันสมัยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย และในจ.สุรินทร์ ก็มี “หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าสว่าง” หรือรู้จักกันดีว่าเป็นหมู่บ้านทอผ้าเอเปค และเป็นหมู่บ้านโอท็อป เพื่อการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ผ้าไหมแห่งเดียวในไทย ทั้งเป็นแหล่งผลิตผ้ายกทอง ภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมานับแต่โบราณ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2559