เปลี่ยน‘ฝิ่น’เป็นแดนดินอุดมสมบูรณ์ที่... ‘ดอยตุง’

30 ต.ค. 2559 | 01:30 น.

"ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีแต่ที่เขาไม่ดีเพราะเขาขาดโอกาสและทางเลือก"


ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในการเล็งเห็นรากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมบนท้องถิ่นดอยตุง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พลิกฟื้นผืนป่า ต้นนํ้า และเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น

[caption id="attachment_109849" align="aligncenter" width="500"] ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง[/caption]

ก้าวแรกสู่การพัฒนาดอยตุง ด้วยการเล็งเห็นถึงปัญหา

ย้อนความในอดีต “ดอยตุง” ตั้งอยู่บนเทือกเขานางนอนในเขตป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทุรกันดารและเป็นที่อยู่ของชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย 6 เผ่า ประชากรกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งทุกคนต่างประสบปัญหาและมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น เกิดการสับสนในหลากหลายเรื่องอย่างเช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา อีกทั้งยังขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และยังมีกลุ่มติดอาวุธครอบครองพื้นที่บางส่วนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งไปกว่านั้นชัยภูมิของดอยตุงที่ตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งผลิตและปลูกพืชเสพติดอย่างเช่น ฝิ่น รวมทั้งค้าขายยาเสพติดเป็นอาชีพหลัก ส่งผลระยะยาวให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมาย

จนกระทั่งในปี 2530 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จพระดำเนินเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกและทรงเล็งเห็นถึงปัญหาในมิติต่างๆของดอยตุง สอดคล้องกับพระราชปรัชญาในการทรงงานของพระองค์ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึกและพึ่งพาอาศัยกันจึงได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี 2531 เพื่อนำ “ผืนป่ากลับคืนสู่ดอย” พร้อมกับฟื้นฟูดอยตุงในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังว่า “ชาวไทยภูเขาจะต้องสามารถเลี้ยงตนเองได้และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน”

[caption id="attachment_109850" align="aligncenter" width="500"] พัฒนาคน พัฒนาคน[/caption]

“พัฒนาคน” หัวใจหลักในการทรงงานของสมเด็จย่า

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวไว้ในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริสมเด็จย่า อันเป็นแก่นของการพัฒนาที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ว่า “สมเด็จย่าทรงมองการพัฒนาคนเป็นหลัก มุ่งแก้ปัญหาในทุกด้านของมนุษย์ด้วยการบูรณาการร่วมกัน”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเชื่อว่า “ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดีเพราะเขาขาดโอกาสและทางเลือก” พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าการปลูกฝิ่นและตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้านดอยตุงนั้นเป็นเพียง “ปลายเหตุ” ของปัญหา ความยากจนและหมดหนทางในการทำมาหากินต่างหากที่เป็น “ต้นเหตุ” ฉะนั้นแล้วการแก้ไขควรเริ่มจากการเยียวยาร่างกายของคนให้แข็งแรงด้วยโอกาสในการช่วยให้มีงานที่ดีทำ ปลอดโรคจากยาเสพติด ซึ่งปัญหาการมีผู้ติดยาในพื้นที่โครงการ เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงได้มีพระเสาวนีย์ให้ตั้ง ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และมีรับสั่งว่า “คนติดยาเขาเป็นคนหรือเปล่า ในเมื่อเขาเป็นคน เรามีการช่วยเหลือเขาได้ไหม ถ้าช่วยเหลือเขาได้ เท่ากับชุบชีวิตใหม่ให้เขา เราก็ควรทำ”

ทั้งนี้ด้าน พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ได้เสริมถึงแนวคิดการพัฒนาคนในวิถีของสมเด็จย่าว่า พระองค์ทรงมีกุศโลบายที่ชาญฉลาดในการพัฒนาชาวไทยภูเขาในพื้นที่ดอยตุงว่า “ไม่ใช่ ทรงไปห้ามแต่ทรงไปช่วยให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น ซึ่งผู้คนบนดอยตุงจากเดิมที่เคยต่างคนต่างอยู่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกัน ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เกิดความกลมกลืนและมีความสำนึกในการเป็นคนไทยเหมือนกัน”

“ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่น” หลังจากการวางรากฐานในการพัฒนาคน ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้มาช่วยงานในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และมาทำงานใต้เบื้องพระยุคลบาท เล่าถึงพระกุศโลบายในการพัฒนาดอยตุงในมิติของภาคการเกษตรว่า “สมเด็จย่า ทรงมีพระประสงค์จะปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยรับสั่งว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นเราจะต้องนำพืชต่างๆ ที่เหมาะกับพื้นที่มาปลูกแทนฝิ่น อย่างเช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ และเกาลัด ซึ่งพืชเหล่านี้มีอายุยืนยาวที่สำคัญเมื่อปลูกพืชจำพวกนี้จะได้ป่า และเมื่อออกผลชาวบ้านก็สามารถเก็บเกี่ยวต่อไปได้”  และนี่จึงเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นในการพลิกโฉม ฝิ่น ให้เป็นดินแดนที่สมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ

ไม่เพียงแต่มิติทางภาคการเกษตรและการคืนผืนป่า งานด้านหัตถกรรมและมิติด้านงานท่องเที่ยวก็เป็นอีกปัจจัยที่ทางสมเด็จย่าเล็งเห็น ซึ่งหลังจากการดำเนินงานโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน 9,900 ไร่ พระองค์ทรงจัดตั้งโรงฝึกอาชีพโดยมีนัยสำคัญเพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาประกอบอาชีพที่สุจริต พร้อมกับพระราชทานแนวทางในการดำเนินงานไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะช่วยคน เรื่องฝึกอาชีพต้องทำให้ได้มาตรฐาน และไม่ให้ขาดทุนและอย่าให้คนซื้อของเรา เพราะสงสาร”

ดังนั้น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงพัฒนางานด้านต่างๆ เพื่อสร้างงานให้กลุ่มคนที่หลากหลาย และมีความถนัดแตกต่างกัน เช่น งานฝึกอาชีพการทอผ้า เย็บผ้า สำหรับผู้หญิงไทใหญ่และชาวไทยภูเขาที่มีทักษะการทอผ้าอยู่เดิม งานยิงพรมที่ต้องถือเครื่องมือที่มีนํ้าหนักมาก เหมาะสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่แข็งแรง มีกำลังดี งานเพาะเนื้อเยื่อพันธุ์พืช ช่วยสร้างงานให้กับเด็กสาวเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ป่าเศรษฐกิจ นอกจากจะสร้างรายได้และพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกร ยังทำให้ชุมชนของพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างดี และที่สำคัญ การพัฒนาดอยตุงจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ นอกจากจะนำรายได้ที่ยั่งยืนให้คนทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความรักและความภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดและวัฒนธรรมของตนด้วย

[caption id="attachment_109851" align="aligncenter" width="500"] ดอยตุง ดอยตุง[/caption]

พัฒนาในทุกมิติเพื่อความยั่งยืนของประชาชน

อย่างไรก็ดีระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ เปิดเผยต่ออีกว่า สมเด็จย่าได้ทรงเรียนรู้จากโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกตัวอย่างเช่น การนำหญ้าแฝกมายึดดินบนที่ดินทำกินพื้นที่ดอยตุง ผลิดอกออกผลเป็นโครงการพัฒนาหญ้าแฝกดอยตุง โดยสมเด็จย่าทรงหารือกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพ่อหลวงทรงแนะนำให้ลองเอาหญ้าแฝกมาปลูกที่ดอยตุง เพราะทรงทราบจากรายงานธนาคารโลกว่า หญ้าสามารถป้องกันการเลื่อนไหลและการพังทลายของดินได้

จากนั้นสมเด็จย่าก็ทรงเอาหญ้าแฝกมาทดลองปลูกบนพื้นที่ดอยตุง ซึ่งต้นหญ้าแฝกที่มีอายุเพียง 9 เดือน มีรากยาวประมาณ 3-4 เมตร มีรากแน่นสามารถยึดหน้าดินได้อย่างมั่นคง ก็เพราะพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จย่าและด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ชาวไทยภูเขาสามารถที่จะใช้หญ้าแฝกในการที่จะป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี ถือได้ว่าความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงนำมาใช้พัฒนาดอยตุงเป็นหลักการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือที่เรียกกันว่า “ศาสตร์ของพระราชา”

“จากเม็ดดินสู่อาชีพคนในวันนี้ผลผลิตจากดอยตุงกลายเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ดอยตุง” สมเด็จย่าทรงเน้นยํ้าในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานและไม่ขาดทุน ด้วยค่านิยมดังกล่าวนี้ทำให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ สามารถจำหน่ายและสร้างผลรายได้จากผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้ชื่อ “ดอยตุง” โดยมีหน่วยธุรกิจ 4 หน่วยหลักประกอบด้วย อาหาร หัตถกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมและการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาดอยตุงโมเดลพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืน

โดยกรอบการดำเนินงานของโครงการพัฒนาดอยตุงฯวางแผนงานไว้ 30 ปี ซึ่งแบ่งแผนงานออกเป็น 3 ระยะประกอบด้วย ในระยะที่ 1 ปี 2531-2536 ปัญหาด้านสาธารณสุขให้ได้รับการตอบสนองอย่างเร่งด่วน โดยการกำหนดมาตรการการป้องกันโรคพร้อมกับให้ความรู้ด้านสาธารณสุข ระยะที่ 2 ปี 2537-2545 มุ่งสร้างรายได้
ส่งเสริมการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการหาวิธีเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และระยะที่ 3 ปี 2546-2560 ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับหน่วยธุรกิจของแบรนด์ดอยตุงเพื่อนำรายได้กลับคืนสู่โครงการและชุมชนดอยตุงให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ยังส่งเสริมด้านการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการสานต่อการพัฒนาด้วยตนเอง

ดร.อันโทนิโอ มารีอา คอสต้า รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารสำนักงานควบคุมยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย กล่าวยกย่องถึงโครงการพระราชดำริดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า “เป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทดแทนการปลูกพืชยาเสพติด ไม่เพียงแต่การปลูกพืชทดแทน เรากำลังพูดถึงการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในมิติของ สุขภาพ การประกอบอาชีพ และการศึกษาอันนำมาสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชน ชุมชน สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ทำให้ในปี 2545 สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ได้ยกย่องให้โครงการพระราชดำริดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

“มหาวิทยาลัยมีชีวิต โครงการพระราชดำริดอยตุงฯ”ในแต่ละปีโครงการ ได้ต้อนรับกลุ่มนักศึกษาและมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลก ได้แก่ ฮาร์วาร์ด, โคลัมเบีย, นิวยอร์กยูนิเวอร์ซิตี รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดลและสถานศึกษาอื่นๆอีกมากมาย ถือได้ว่าโครงการพระราชดำริดอยตุงฯ (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนโดยยึดเอาคนเป็นศูนย์กลางและมุ่งพัฒนาด้วยการ
บูรณาการเป็นแก่นหลักสำคัญ อันก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ขอบคุณภาพจาก “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559