ศาสตร์ของพระราชา จากแปลงทดลอง‘หญ้าแฝก’ สู่งานของ‘แม่ฟ้าหลวง’

30 ต.ค. 2559 | 06:30 น.
"...บัณฑิตทุกคนควรจะสนใจสังเกตเรื่องราว บุคคล และสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้าซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้ หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษและหญ้าที่มีคุณค่าอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและนํ้า เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มนํ้าและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคงและมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนา ทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี..."

[caption id="attachment_109845" align="aligncenter" width="500"] พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้มีการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ให้มีการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ[/caption]

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์ เพ็ญศิริ วันที่ 24 กรกฎาคม 2540

การเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากร “ดิน นํ้า และป่าไม้” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย “หญ้าแฝก” ต้นหญ้าใบเรียวแหลมขึ้นเป็นกอหนาแน่นและแผ่กระจายปริมาณอย่างสม่ำเสมอไม่รบกวนพืชชนิดอื่น จากหญ้าแฝกที่กระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด พบในประเทศไทย 2 ชนิดคือ “หญ้าแฝกกลุ่ม” และ “หญ้าแฝกดอน” หญ้าที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เจริญเติบโตเกิดได้ทุกสภาพพื้นที่ในเขตร้อน ตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงภูเขาสูงระดับ 2,000 เมตรจากระดับนํ้าทะเล ทั้งในพื้นที่ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์  แต่ด้วยระบบรากที่ยาวลึก เส้นโต และแตกแขนงเป็นรากฝอยจำนวนมากสานกันเหนียวแน่นดุจตาข่ายตาละเอียด หยั่งลึกลงไปในดินเป็นแนวดิ่ง เหนี่ยวนำและเกาะยึดเม็ดดินแต่ละก้อนไว้อย่างแน่นหนา เมื่อนำมาปลูกในระยะที่พอเหมาะคือระยะห่างตั้งแต่ 2-3 เซนติเมตร ถึง 10-15  เซนติเมตร รากของหญ้าแฝกจะเป็นเหมือนกับม่านใต้ดินที่ชะลอการไหลซึมของนํ้า ทั้งยังช่วยดูดซับและกรองของเสียจำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งนํ้าสาธารณะ เป็น “กำแพงธรรมชาติ” ที่สมบูรณ์แบบ ป้องกันดินทลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินอย่างไร้ที่ติ

[caption id="attachment_109841" align="aligncenter" width="500"] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทาน ปลูกหญ้าแฝก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทาน ปลูกหญ้าแฝก[/caption]

จากจุดเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน 2534 จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งได้พระราชทานแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการกปร. ในขณะนั้นให้มีการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาลักษณะการปลูกตามภูมิประเทศคือพื้นที่ภูเขา ให้มีการปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องนํ้าของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในหน้าดิน และการปลูกบนพื้นที่ราบ ให้มีการปลูกโดยรอบแปลงและปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่  นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงศึกษาเรื่องการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝกจากเอกสารของธนาคารโลก พร้อมให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ทำการศึกษาทดลองและพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบสู่การพัฒนาประเทศในจุดอื่นๆ ต่อไปอย่างกว้างขวาง จากผืนดินสู่ขุนเขาที่ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงนำศาสตร์จากพระราชามาพัฒนางานบนยอดดอย เปลี่ยนชีวิตชาวเขาที่ไร้ซึ่งโอกาสและหวาดกลัวให้มีรอยยิ้มและความสุขอย่างสมบูรณ์ตามแนวทาง “อยู่รอด อยู่อย่างพอเพียง และอยู่อย่างยั่งยืน”

“...ข้อสำคัญที่มาเพราะว่าที่ดินในเมืองไทยมันมีน้อยลงที่จะใช้งานได้ จึงต้องหาที่เลวๆ ให้พัฒนาขึ้นเป็นที่ที่ใช้ได้ และให้ความสำคัญของโครงการนี้เป็นยังไง ต้องลงมือหลายฝ่าย กรมพัฒนาที่ดินและกรมป่าไม้ศึกษา และถ้าทำได้แล้วเมืองไทยนี้ไม่อับจน...

... หญ้าแฝกนี้จะกักนํ้าและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏิกรณ์นํ้าและปุ๋ยไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทานแล้วก็ป่าไม้...

... เราจะสร้างของดีซ้อนบนของเลวนั่น อย่าไปนึกไปใช้ดานอันนี้เพราะดานอันนี้ไม่มีอาหารและแข็งเหลือเกิน ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้ว
หญ้าแฝกนั้นเวลานํ้าฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติด หญ้าแฝกก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไป แล้วก็ดินนี้นานไปจะเป็นดิน...”

พระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559