ผู้บริโภคท้องถิ่นซื้อสินค้าผ่านร้านโชวห่วยมากขึ้น หลังภาครัฐปรับแนวทางบริหารจัดการธุรกิจใหม่

27 ต.ค. 2559 | 06:31 น.
ผู้บริโภคท้องถิ่นซื้อสินค้าผ่านร้านโชวห่วยมากขึ้น หลังภาครัฐปรับแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เชื่อมโยงเครือข่ายค้าส่ง-ค้าปลีก กระจายสินค้าถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยหลายราย ปรับกลยุทธ์การตลาดกระจายสินค้าลงร้านค้าปลีกรายย่อยแต่ละชุมชนมากขึ้น มั่นใจนโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ร้านโชวห่วยเติบโตต่อเนื่อง พร้อมช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้จริง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับทิศทางการทำงานให้มีลักษณะเชิงรุก และมอบนโยบายให้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น พร้อมสำรวจราคาสินค้า และตรวจเช็คสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละจังหวัดเป็นประจำทุกวัน เบื้องต้นจากการสำรวจฯ ทำให้ทราบว่า ผู้บริโภคท้องถิ่นมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าปลีกรายย่อย (ร้านโชวห่วย) มากขึ้น โดยพบว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าจากร้านโชวห่วยในท้องถิ่น เพิ่มขึ้นจากประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เป็น 2-3 ครั้งต่อเดือน สินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำปลา น้ำมันพืช น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก แชมพู สบู่ก้อน ยาสีฟันฯลฯ เป็นต้น

การที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จับจ่ายใช้สอยผ่านร้านโชวห่วยในชุมชนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนร้านค้าส่งค้าปลีกที่มีศักยภาพ และได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมโครงการ“ร้านฉลาดซื้อ ประหยัดใช้” และผลักดันให้แต่ละจังหวัดมี “ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกต้นแบบ” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านค้าโชวห่วยในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก และมีราคาถัวเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ 10% ทำให้สามารถช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีการนำเทคโนโลยี ซอฟแวร์ (POS) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องกับร้านค้าปลีกที่มีศักยภาพ และเพื่อช่วยกระจายสินค้าให้ถึงมือประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาประหยัดใกล้บ้าน โดยผลที่ได้นอกจากจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และชุมชนมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความอยู่ดีกินดีแก่ ประชาชนทั้งประเทศ

ผลที่ได้จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านโชวห่วยมากขึ้น สอดคล้องกับบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยหลายราย เริ่มมีการปรับกลยุทธ์การตลาด ที่เน้นกระจายสินค้าลงร้านค้าปลีกรายย่อยแต่ละชุมชนมากขึ้น รวมทั้ง มีการปรับโครงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่เน้นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกในท้องถิ่นมากขึ้น ในอัตราส่วนที่สมดุลกับไฮเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ และร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์

กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันให้ “ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” เป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก ที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นฐานในแต่ละท้องถิ่นให้มีความคึกคัก โดยมีการร่วมมือกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ในการพัฒนายกระดับคุณภาพธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการดำเนินกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการตลาด ได้แก่ 1.1 1.2 การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าปลีกให้ มีความทันสมัย โดยมีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการ และปรับปรุงร้านให้มีความทันสมั ย (สวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย) 1.2 การจัดงาน “ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม” เพื่อขยายโอกาสทางการค้า เกิดการสร้างเครือข่ายความร่ วมมือที่เข้มแข็ง และเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชน

2. ด้านการเสริมสร้างความรู้ ได้แก่ 2.1 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี ซอฟแวร์ (POS) มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ระบบขายหน้าร้าน การบริหารจัดการรายได้และค่าใช้ จ่าย 2.2 การพัฒนาด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีก โดยให้ร้านค้ามีปลีกมีความเข้าใจระบบบริหารโลจิสติกส์ การบริหารยอดซื้อ-ขาย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ฯลฯ

ปัจจุบัน “ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ” มีจำนวนทั้งสิ้น 114 ร้านค้า 545 สาขา ครอบคลุม 65 จังหวัด ซึ่งพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยที่เป็นเครือข่ายกันอยู่ 19,200 ร้าน และในปี 2560 กระทรวงฯ มีเป้าหมาย   ที่จะขยายร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้า ซึ่งสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านค้าปลีกโชวห่วยเครือข่ายเพิ่มเติมได้อีก 6,000 ร้านค้า ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน

ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง มีอัตราการจ้างงานสูง คิดเป็นร้อยละ 27.5 หรือ ประมาณ 2.9 ล้านคน ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคบริการ และมีมูลค่าซื้อขายรวม 1.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 ของ GDP ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจากภาคบริการ (ร้อยละ 32.6) และ ภาคการผลิต (ร้อยละ 27.7)