นายกฯประชุมคนร.รับทราบผลการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งมีความคืบหน้า

26 ต.ค. 2559 | 09:50 น.
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คนร. ครั้งที่ 4/59 รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง โดยรัฐวิสาหกิจในภาพรวมมีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมเห็นชอบในหลักการการกำหนดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและสมรรถนะหลักของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

วันนี้ (26 ต.ค.59) ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. พร้อมด้วยนางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

คนร. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 5 ปี ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นแผนแม่บท (Roadmap) ที่ชัดเจนในการพัฒนารัฐวิสาหกิจต่อไป โดยให้เสนอ คนร. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว

ในเรื่องการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง คนร. รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอ โดยรัฐวิสาหกิจในภาพรวมมีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย สรุปได้ดังนี้

1) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธพว. โดย ธพว. มีผลการดำเนินงานในภาพรวมที่ดีขึ้น ทั้งในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่ และยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ หาก ธพว. มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณานำเสนอ คนร. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินงานของ ธพว. ตามปกติต่อไป

2) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ได้จัดตั้งแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดการเพิ่มทุนเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน ของ ธอท. และให้ ธอท. เร่งหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริการสินเชื่ออิสลามโดยเร็ว

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  คนร. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในเรื่องการปฏิรูปการเดินรถโดยสารทั้งระบบในภาพรวม โดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ส่งผลให้มีการแยกบทบาทระหว่างผู้กำกับดูแลการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ (Regulator) และผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยให้ ขบ. เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถ (Operator) เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เพียงพอ มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขบ. อยู่ระหว่างการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร และกำหนดเส้นทางการเดินรถให้แก่ ขสมก. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ขสมก. คาดว่าจะรับรถได้ภายในเดือนธันวาคม 2559 และให้บริการได้ตั้งแต่ต้นปี 2560

คนร. มอบหมายให้ ขสมก. เร่งจัดหารถโดยสารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอและประเมินความคุ้มค่าของรถแต่ละประเภท รวมทั้งนำร่องให้นำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ และให้มีการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดต่อไป ตลอดจนให้ ขสมก. แยกแก้ไขปัญหาออกเป็น 2 ส่วน ทั้งในการแก้ไขหนี้ที่มีอยู่เดิม และการสร้างรายได้ในอนาคตเพื่อสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บกท. โดย บกท. มีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของ บกท. โดยการเริ่มนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ในการดำเนินงาน

5) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ รฟท. ในการดำเนินการของคณะทำงานเพื่อเสนอแนะแนวทางและกำกับติดตามการพัฒนาที่ดินที่ไม่ใช้ในการเดินรถ (Non-core) ของ รฟท. ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่เบื้องต้นที่ใช้ในการจัดทำแผนการพัฒนาที่ดิน Non-core (Roadmap) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 ทั้งนี้ มอบหมายให้ รฟท. สร้างความชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ นำเสนอ คนร. ในการประชุมครั้งหน้า

6) – 7) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที.) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) คนร. รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บมจ. ทีโอที. และ บมจ. กสท. โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เร่งจัดตั้งบริษัทลูกที่รัฐถือหุ้น 100% จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ โครงข่ายบรอดแบนด์ระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต โดยให้สามารถเริ่มประกอบกิจการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แก้ไขปัญหาองค์กรให้ได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ในปี 2560 คนร. ได้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรดังกล่าว ไปใช้ประกอบการจัดทำตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 ด้วย

พร้อมกันนี้ คนร. รับทราบความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ คนร. ได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเสนอ โดยเห็นควรให้มีการผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเดือนธันวาคม 2559

นอกจากนี้ ในเรื่องการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi - Stakeholder Group) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) คนร. มีมติดังนี้ (1) คนร. รับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เกี่ยวกับผลการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ที่เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi-Stakeholder Group : MSG) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) ให้มีเพียงคณะเดียว โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้กรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลของโครงการก่อสร้างภาครัฐทั้งภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจมีมาตรฐานและแนวทางที่เป็นระบบ รวมทั้งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและรักษาการตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

(2) คนร. มีมติยกเลิกคำสั่ง คนร. ที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ MSG อย่างไรก็ตาม เพื่อเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ MSG ชุดเดิมทำหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ของภาครัฐวิสาหกิจไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเริ่มดำเนินการ

คนร. ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Skill Matrix) เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและสมรรถนะหลัก (Core Competencies) ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งจัดทำ Skill Matrix ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ โดยพิจารณาจากความรู้ทางการศึกษาและประสบการณ์การทำงานในสาขาด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย เป็นต้น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาก่อนส่งให้ สคร. ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ในการพิจารณาสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจควรมีการพิจารณาทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่กรรมการทั้งคณะยังขาดอยู่ เพื่อให้กรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งคณะมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกด้านที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเพื่อให้ได้กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มีคุณสมบัติตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วย