ประสาร ไตรรัตน์วรกุล น้อมนำหลักคิดสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย

27 ต.ค. 2559 | 01:00 น.
“แม้พระองค์จะจากไปแต่แนวพระราชดำริต่างๆที่ทรงให้ไว้ถ้าพวกเราให้ความสนใจศึกษาหลักคิดต่างๆ รู้จักนำไปประยุกต์ใช้ เหล่านี้ก็ยังอยู่กับเรา”

[caption id="attachment_108960" align="aligncenter" width="335"] ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล[/caption]

หนึ่งในบุคคลที่คอลัมน์ “ในหลวงในดวงใจ “ฉบับนี้ต้องกล่าวถึงคือ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เพราะมีหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่นำพาให้อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านนี้ เข้าไปสัมผัสเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯเป็นความทรงจำที่เป็นใครก็ไม่อาจลืม และน้อมนำหลักคิดของพระองค์ท่าน สร้างภูมิคุ้มกันแก่เศรษฐกิจของประเทศ ให้พร้อมรับความผันผวนที่รุนแรงขึ้นจากทั่วโลก

 พึ่งพระบารมีดับรุนแรง14ตุลาฯ

ประสารให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” เท้าความว่าตั้งแต่จำความได้เกิดมาก็เห็นพระองค์ท่านเป็นพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองมากมาย และเมื่อเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ ของพระองค์ท่านมากขึ้น ทรงมีพระกรุณาธิคุณให้นิสิตจุฬาฯมากมาย โดยเฉพาะทรงใกล้ชิดมาทรงดนตรีและทรงพาสมาชิกในครอบครัวมาร้องเพลงกับนิสิตอย่างเป็นกันเอง

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ได้สัมผัสพระองค์ท่านมากยิ่งขึ้น ก็ช่วงที่ได้ทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยปี 3 ที่ได้รับเลือกเป็นอุปนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และปี 4 เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯโดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับนักศึกษา จนความรุนแรงขยายวงจะลุกลามไปทั่ว นักศึกษาประชาชนก็ได้พึ่งพระมหากรุณาธิคุณ

ช่วงนั้น นิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหาบ้านเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าไปเป็นโจทย์ทางการเมืองในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่ภาวะตึงเครียด

ระหว่างนั้นมีหลายโอกาสที่เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยกับชีวิตตัวเองและทุกครั้งก็จะนึกถึงพระบารมีของพระองค์ท่าน และอันที่จริงก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณช่วยคุ้มครองและคลี่คลายปัญหาความตึงเครียดหลายโอกาสทั้งก่อนหน้า 14 ตุลาคม 2516 รวมทั้งเมื่อเช้า 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาโดนแก๊สน้ำตาจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้เข้าไปพึ่งพระบารมีพระองค์ท่านที่วังสวนจิตรฯ ซึ่งก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณคลี่คลายปัญหาทำให้ไม่เสียเลือดเนื้อ และประเทศก็เดินต่อไปได้

เมื่อมองย้อนกลับไป ประสาร กล่าวว่า หลายเหตุการณ์ที่พระองค์ท่านทรงช่วยคลี่คลาย บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าพระองค์ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แท้จริงพวกเราเป็นต้นเรื่อง ไปพึ่งพระองค์ท่าน เหมือนกับพวกเราไปดึงพระองค์ท่านเข้ามา และก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณหาทางออกในลักษณะประนีประนอม ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้บางฝ่ายก็ชอบ บางฝ่ายก็ไม่ชอบ และก็สุ่มเสี่ยงว่าฝ่ายที่ไม่ชอบ บางครั้งเขาก็มีอำนาจมีกำลังทหาร”

ความทรงจำอีกครั้งก็คือในปี 2519 ที่ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อชั้นสูงถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต ไม่ใช่เฉพาะว่าได้มีโอกาสไปเรียนต่อทุนอานันทมหิดล ปกติคนจะได้ก็น้อยอยู่แล้ว ที่สำคัญเป็นทุนที่มีความหมาย ทรงโปรดเกล้าฯตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 8 คือแทนที่จะสร้างวัตถุเป็นรูปปั้น ก็ทรงคิดถึงอนุสรณ์ที่มีชีวิตและทรงมีวิสัยทัศน์ว่าถ้าจะพัฒนาประเทศต่อไปก็ต้องอาศัยประชากร

 ทรงรับสั่ง“คิดเองเป็น”

ก่อนไปเรียน เมื่อเดือนมิถุนายน 2519 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ นานร่วม 2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ที่ทรงรับสั่งจะให้เราเข้าใจว่าประเทศมีปัญหาอะไร และหากจะพัฒนาไปข้างหน้าต้องทำอะไรบ้าง ทรงรับสั่งเป็นเจตนาที่ให้ไปเรียน เพื่อใช้ความรู้ในการพัฒนาประเทศ และถึงแม้จะได้รับทุนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แต่พระองค์ท่านตรัสว่าการทำงานในอนาคตต้องเกี่ยวกับคน ก็จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความคิดของคน จิตวิทยาของมวลชน

“ทุนนี้เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดหรือสัญญาว่าจะต้องกลับมารับใช้ทุน แต่ตอนทรงรับสั่งที่ให้เข้าเฝ้าฯทำให้เราซึมซับได้ว่า ท่านทรงให้อิสระทางความคิด เคารพความคิดของเรา มองอีกด้านหนึ่งก็เปรียบเหมือนเราเป็นผู้ใหญ่คือทรงรับสั่งว่า‘คิดเองเป็น’และถ้าเราซึบซับมาก็จะเห็นว่าความหมาย‘คิดเป็น’ ก็แสดงถึง‘คนรับผิดชอบ’เมื่อรับใส่เกล้าฯก็ต้องมีความรับผิดชอบ

ฉะนั้นนักเรียนทุนอานันทมหิดล แม้จะไม่ต้องเซ็นสัญญาเรื่องของการใช้ทุน แต่ก็จะมีความสำนึกตรงนี้อยู่ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน เพราะพระองค์ท่านทรงให้เกียรติเราว่าเราเป็นคน‘คิดเป็น’ดังนั้นเวลาตัดสินใจก็จะมีหลักว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรถูกหรือผิด และอะไรเป็นหลักส่วนตัวหรือส่วนรวมหลักพวกนี้จะติดอยู่ในใจมาตลอด”

ประสาร กล่าวและว่า...“ความจริงเวลานี้เป็นเวลาที่โศกเศร้า เสียใจของคนไทยทุกคน แต่ถึงแม้พระองค์จะจากไป แต่แนวพระราชดำริต่าง ๆที่ทรงให้ไว้ ถ้าพวกเราให้ความสนใจศึกษาหลักคิดต่างๆเหล่านี้ยังอยู่กับเรา และรู้จักการนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งพระองค์รับสั่งอยู่บ่อย ๆว่าของพวกนี้มีพลวัต มีชีวิต ต้องปรับเปลี่ยนให้ความเหมาะสมกับบริบท และทันสมัยกับเหตุการณ์”

โดยในด้านหนึ่งของการทำงาน หรือในสมัยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้น้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องของความพอประมาณการมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันมาใช้ในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ,การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน

 หลักปรัชญาบริหารประเทศ

ทั้งนี้หากจำกันได้ช่วงที่ประสาร เป็นผู้ว่าการธปท. ( 1ต.ค 53-30 ก.ย. 58 ) บ้านเมืองเกิดวิกฤติความขัดแย้งรุนแรงถึง 2 ครั้งคือช่วงปี 2548-2553 และปี 2556-2557 การเมืองเข้ามาแทรกแซงนโยบายการเงินบีบให้ธปท.ต้องลดดอกเบี้ย

ประสาร เล่าถึงครั้งนั้นว่า อย่างบางช่วงที่สินเชื่อขยายถึง 15-16% สินเชื่อบริโภคขยาย 20 % และรัฐบาลจะให้ธปท.ลดดอกเบี้ยลงอีก เราก็บอกไปว่าไม่เหมาะสม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เรายึดหลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุผล

หรือในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันเห็นได้ที่ช่วงหนึ่งธนาคารพาณิชย์ทำกำไรได้สูงๆ แทนที่จะปล่อยให้จ่ายปันผล เราก็สั่งให้กันสำรอง เพราะคำนวณแล้วว่าวัฏจักรมีขาลง ซึ่งก็ปรากฏในภายหลังว่าสามารถใช้ได้ในยามที่ธุรกิจขยายได้น้อยรายได้ตก แต่ธุรกิจก็มั่นคง ผู้ลงทุนก็มั่นใจ

ประจักษ์พยานจากการน้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงพิสูจน์ได้แม้เวลานี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวตํ่า และได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังแกร่ง มีขนาดทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่หนี้ระยะสั้นเพียงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ...ก็เนื่องเพราะเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559