รถบรรทุก-ธุรกิจขนส่งบูม ‘ช.ทวี’ผุดศูนย์บริการสิบล้อ 24 ชั่วโมงเป้า 3 ปี8 สาขา

29 ต.ค. 2559 | 12:00 น.
ช.ทวี ดอลลาเซียน ทุ่ม 70 ล้านปักหมุดชลบุรีเปิดศูนย์บริการครบวงจรสำหรับรถบรรทุก 24 ช.ม. คาดเปิดไตรมาสแรกปี 60 ตั้งเป้าใน 3 ปีเปิด 8 สาขา พร้อมเดินหน้าวิจัย-พัฒนารถไฟฟ้าหวังรองรับอนาคต คาดรายได้ปี 59 ยอดทะลุกว่า 1 พันล้านเติบโต 10%

[caption id="attachment_109014" align="aligncenter" width="335"] สุรเดช ทวีแสงสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) สุรเดช ทวีแสงสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสุรเดช ทวีแสงสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) ผู้ต่อตัวถังรถบรรทุกรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ลงทุนกว่า 70 ล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์ซ่อมและบริการครบวงจรสำหรับรถบรรทุก 24 ชั่วโมง โดยศูนย์ฯดังกล่าวจะให้บริการรถบรรทุกยี่ห้อต่างๆ และรองรับทั้งการซ่อมบำรุงทั่วไป ซ่อมหนัก และซ่อมตัวถัง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 17 ไร่ จังหวัดชลบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในไตรมาส 1 ของปี 2560

“เรามีความเชี่ยวชาญรถบรรทุกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และมีประสบการณ์ในการดูแลรถขนส่งของห้างโลตัสทั่วประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับก่อนหน้านั้นได้ทำแบบสำรวจความต้องการของลูกค้า และพบว่ารูปแบบของศูนย์ฯดังกล่าวยังไม่มีใครเข้ามาทำ ทั้งรวมเอาซ่อมหนัก ,ซ่อมเบา ,ซ่อมตัวถังมารวมกันและยังเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีห้องรับรองสำหรับคนขับที่อาจจะนำรถเข้ามาซ่อมบำรุงตอนกลางคืน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในธุรกิจของเรา”

สำหรับแผนงานเบื้องต้นจะเปิดสาขาแรกที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในเส้นทางขนส่งและมีกลุ่มลูกค้าอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นภายใน 3 ปีจะเปิดให้ครบ 8 สาขาตามหัวเมืองต่างๆขณะที่รายได้จากศูนย์บริการฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 50 - 80 ล้านบาท และในอนาคตเมื่อเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้วคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100 ล้านบาท

[caption id="attachment_109015" align="aligncenter" width="500"] รถบรรทุก รถบรรทุก[/caption]

ปัจจุบัน ช.ทวี มีหน่วยธุรกิจ 3 ส่วนได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐาน ประกอบรถเทรเลอร์,รถพ่วง โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% หน่วยที่ 2 คือกลุ่มออกแบบพิเศษ ที่ทำตามคำสั่งซื้อของลูกค้าโดยเฉพาะคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50 % และหน่วยที่ 3 คือ การบริหารโครงการและงานบริการ ได้แก่งานประมูลต่างๆหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในส่วนนี้คิดเป็น 10%

นายสุรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามารุกในธุรกิจศูนย์บริการจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้และเพิ่มสัดส่วนของงานบริการที่มากขึ้น ส่วนแผนงานในหน่วยธุรกิจอื่นๆล่าสุดได้ซื้อที่ดินใหม่อีก 270 ไร่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งยังไม่ได้วางแผนว่าจะใช้ทำอะไร ขณะที่โรงงานประกอบที่ตั้งอยู่ที่ขอนแก่นนั้นปัจจุบันประกอบรถเทรเลอร์,รถพ่วง มีกำลังการผลิตต่อปี 1,000 คัน และทำรถพิเศษที่ใช้ในสนามบินของสายการบินต่างๆในต่างประเทศประมาณ 200 คัน นอกจากนั้นแล้วยังมีศูนย์อาร์แอนด์ ดี ที่จะมีการพัฒนาและวิจัย ซึ่งบริษัทมีความสนใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้า ล่าสุดได้ทำรถตู้ไฟฟ้า 1 คัน และให้ซีพี ออลล์ เป็นผู้ทดสอบการใช้งาน

“ธุรกิจที่เราทำถือว่ามีคู่แข่ง ทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างการต่อตัวถัง เราได้เปรียบตรงต้นทุนที่ถูกกว่าต่างชาติ แต่คุณภาพทัดเทียมกัน ส่วนการเปิดศูนย์ซ่อมและบริการสำหรับรถ 10 ล้อนั้นก็อาศัยจุดแข็งคือการเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้สามารถลงทุน มีการทำโนว์ฮาวด้านต่างๆ และให้บริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะแตกต่างจากอู่ หรือ ศูนย์ทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ในลักษณะเดียวกัน”

นายสุรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาส 3 - 4 ของปีนี้ คาดว่าจะทำรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากช่วงไตรมาส 1 - 2 ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี และส่งผลกระทบกับลูกค้าทำให้คำสั่งซื้อลดน้อยลง อย่างไรก็ตามบริษัทมั่นใจในองค์กรนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาและวิจัยงานในรูปแบบพิเศษต่างๆสำหรับลูกค้าได้ โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในปี 2559 ไว้ที่ 10 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้ 1,100 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากตลาดในประเทศ 60 % และ 40 % เป็นตลาดต่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559